หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
เทคนิคจิตรกรรม

ข้อเขียนนี้นำเอาเฉพาะเนื้อหาที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับนักศึกษาที่เรียนจิตรกรรมหรือผู้ที่สนใจการวาดภาพ โดยเรียบเรียงมาจากเรื่อง “ความจริงตลอดกาลสำหรับจิตรกร” ที่แปลโดย นิวิต หะนนท์ จากหนังสือที่เขียนโดย Harley Browns จิตรกรอาชีพชาวแคนาดาที่มีความชำนาญในการเขียนภาพเหมือน(Portrait) ด้วยสีชอล์ค และสีน้ำมัน ปัจจุบันอาศัยอยู่ในอเมริกา และเป็นหนึ่งในเจ็ดของจิตรกรยอดเยี่ยมแห่งรัฐ

เคล็ดลับการแก้ปัญหาจากประสบการณ์ของยอดจิตรกรฮาร์ลีย์ มีดังนี้

1. สร้างความน่าสนใจในภาพโดยใช้สีสว่างแตะแต้มส่วนเด่นของภาพหุ่นนิ่ง หรือคน แบบที่ เรมบรานดท์* ใช้แสงสว่างตกกระทบเฉพาะเฉพาะส่วนหน้าผาก จมูก และโหนกแก้มในรูปคนของเขา

2. ไม่ควรเขียนสีพื้นหลัง (back ground) ในภาพวาดด้วยสีแรง หรือจัด เพราะบริเวณนี้ของภาพควรสงบเพื่อความกลมกลืนกับจุดสนใจตามเนื้อหาของภาพ

3. เมื่อเรามองรูปทรง หรือจุดสนใจใดอยู่ บริเวณรอบข้างจะดูพร่าเลือน พึงใช้ความจริงนี้มาช่วยในการเขียนภาพ

4. อย่าเขียนน้ำหนักสีให้มืดเกินไป ในภาพที่รับแสงสว่างมาก เพราะแสงสว่างจะกระจายไปทั่วบริเวณเช่นกัน

ภาพเหมือนตัวเองของเรมบรานดท์ วาดปีค.ศ. 1660-65
สีน้ำมัน ขนาด 114 x 94 ซ.ม.

5. ความมืดเข้มมีน้ำหนักมาก จึงควรลงสีอย่างเบาบาง ส่วนความสว่างนั้นลอยตัว จึงควรลงให้หนาหนัก

6. จงมองที่หุ่นให้มากกว่ารูปที่กำลังเขียน เพื่อให้รู้ว่าจะเขียนอะไรต่อไป และอะไรที่เขียนแล้ว

7. ผลที่ดีมักตามหลังการปฏิบัติ ดังนั้นพึงลงมือปฏิบัติโดยไม่ต้องห่วงกังวลถึงผล และสนุกสนานกับการปฏิบัติงานนั้นๆ

8. อย่าทำงานศิลปะแข่งกับคนอื่น แต่ทำงานของตัวเองให้ดีที่สุด

9. เมื่อเขียนรูปที่มีปริมาตร พึงสัมผัสความหนาของมัน สร้างมายาภาพให้เห็นว่ามีด้านข้างไปสู่ความลึก

10. เป็นความจริงแท้ที่ว่า พึงทำอะไรให้เรียบง่ายเข้าไว้ ไม่เฉพาะในงานศิลปะของคุณเท่านั้น แต่ในการดำเนินชีวิตก็ด้วยเช่นกัน

11. วัดสัดส่วนสองครั้ง วาดครั้งเดียว

12. ลงส่วนสว่างที่สุด และมืดที่สุดเสียแต่เริ่มแรก แล้วคุณจะลงค่าน้ำหนัก (values) เปรียบเทียบระหว่างกลางได้ง่ายขึ้น

ภาพชื่อ จูดิธ และ โฮโลเฟอร์เนส ค.ศ. 1600
สีน้ำมันบนผ้าใบ 145x195 ซม.
วาดโดย Caravaggio ศิลปินชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นการใช้แสงเงาที่ให้อิทธิพลต่อการวาดภาพของ Rembrandt

13. เมื่อเปรียบเทียบค่าน้ำหนักให้หรี่ตาดู ทำให้ลดทอนรายละเอียด และเห็นแต่โครงสร้างใหญ่

14. ป้ายหรือเขียน (strokes) แต่ละครั้งอย่างแน่นอน เบาบาง อย่ารีบร้อนทำให้หนาหนัก จะกองเป็นโคลน

15. เขียนส่วนต่างๆของรูปพร้อมๆกันไปแต่แรก

16. เขียนพื้นหลังระยะไกล (backgrounds) พร้อมไปกับการเขียนระยะใกล้ (foregrounds) ให้เป็นนิสัย

17. รายละเอียด แง่มุมต่างๆที่จำเป็น ทำให้ถูกต้องเสียแต่แรก จะได้ไม่ต้องเสียเวลาแก้ไขภายหลัง

  เรียบเรียงโดย .เสวก จิรสุทธิสาร

_____________________

*Rembrandt van Ryn ค.ศ. 1606-1669
เป็นจิตรกรชาวดัทช์ คนสำคัญในศตวรรษที่17 ที่สามารถวาดภาพเหมือนของคนอย่างได้ความรู้สึก เขารับเอาลักษณะ บาร็อกของศิลปินในอิตาเลียน Caravaggio มาใช้ในงานของตน นั่นก็คือการให้แสงและเงาตัดกันหรือการใช้สีที่มืดจัดสว่างจัดเพื่อสร้างจุดเด่นและเน้นอารมณ์ในภาพ
-จาก วีรวรรณ มณี จิตรกรยุโรปในศตวรรษที่19 น. 134

-เรื่องจาก “ขี้ใต้ คันทรี่” ฉบับที่1มกราคม-มีนาคม 2546

-ภาพประกอบที่1และ2 พร้อมคำบรรยาย เพิ่มเติมโดยผู้เรียบเรียง


บทความศิลปะ โดย เสวก จิรสุทธิสาร
  1. บุญชัย เรียนศิลปะ
  2. วินสตัน เชอร์ชิล:ชีวิตในฐานะจิตรกร
  3. พระอัจฉริยภาพทางศิลปะของมกุฎราชกุมารอังกฤษ
  4. อาจารย์เฟื้อเรียนศิลปะ
  5. เฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสม์คนแรกของเมืองไทย ?
  6. ไม่มี“สีดำ”ในงานอิมเพรสชั่นนิสม์ไทย ?
  7. วาดอะไรก็ได้ ใครๆ ก็ชอบ
  8. เทคนิคจิตรกรรม
  9. ก่อนคุณจะเริ่มต้นวาดรูปสีน้ำ
  10. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนสเปน
  11. อคาเดมิก อาร์ต และปิกาสโซ
  12. สีน้ำสำหรับการวาดภาพ
  13. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนเบลเยี่ยม
  14. สัดส่วนความงามของคนในงานศิลปะ

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :