หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
อาจารย์เฟื้อเรียนศิลปะ

“...เพาะช่างเขามีแนวของเขา มีแบบแผนชัดเจนตามแนวการสอนของโรงเรียน ที่ต้องการผลิตนักเรียนให้เป็นครูสอนศิลปะตามโรงเรียน แต่ผมไม่ยอม ผมอยากได้ศิลปะจริงๆ”

อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ (พ.ศ.2453-2536) เล่าถึงอดีตที่เรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง เมื่อปี พ.ศ.2472 เรียนจนถึงปีที่ 5 สอบผ่านวิชาอื่นๆหมดแล้ว เหลือเพียงวิชาศิลปะ ทำให้เรียนไม่จบ เพราะไม่ยอมวาดรูปตามหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งอาจารย์เฟื้อเห็นว่า จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา จึงเขียนตามแบบที่ตัวเองชอบ ทำให้สอบตก

.....หลวงวิบูลย์ศิลปการ อาจารย์ผู้ปกครอง เรียกนายเฟื้อเข้าไปพบ และพูดว่า “เธอมันโดดข้ามขั้นจะไปเอาสุดยอดได้ที่ไหนกัน ต้องทำงานอย่างละเอียดไปก่อนซี แล้วค่อยหยาบทีหลัง” อาจารย์เฟื้อ ตอบดังนี้ “ผมว่าต้องหยาบก่อน แล้วจึงค่อยละเอียดสิครับ”

“ผมเรียนมาห้าปีได้วิชาครู กับลายเครือเถา เท่านั้น วิชาพวกลายไทย วาดหุ่น วาดเส้นอะไรไม่ได้ทั้งสิ้น ตอนแรกคิดจะเรียนต่ออีกปีให้จบ ก็ไม่เอา ออกมาเรียนเองกับอาจารย์ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิตตัวต่อตัวดีกว่า”


ปลาทะเลที่สีชัง พ.ศ.2500 สีน้ำมัน

อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ ( น. ณ ปากน้ำ) ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า “การเขียนภาพสติลไลฟ์ (หุ่นนิ่ง) ด้วยสีน้ำมัน มักจะเขียนอย่างละเอียด ลออ อย่างเช่น ผลเงาะนั้นก็แทบจะเก็บขนของมันทุกเส้นเลยทีเดียว การระบายสี ก็ใช้วิธีระบายซ้ำ ทับกันเป็นชั้นๆ ทำให้สีดูสกปรก และเป็นวิธีแบบช่างฝีมือแท้ๆ มิใช่งานศิลปะเลยแม้
แต่น้อย” เช่นเดียวกับแนวความคิดการสอนศิลปะในเพาะช่าง อันขัดต่อความต้องการทำงานศิลปะของอาจารย์เฟื้อ เป็นอย่างยิ่ง

ส่วนอาจารย์ขุนปฏิภาคฯ นั้น เคยเป็นคนล้างพู่กัน ถือกระป๋องสีให้แก่ศิลปินในอังกฤษ มีโอกาสใช้ ชีวิตในยุโรป เป็นเวลาถึง 20 ปีเศษ มีความรู้ งานศิลปะตะวันตกมากที่สุดคนหนึ่ง และเมื่อกลับเมืองไทยก็เป็นครู สอนในโรงเรียนเพาะช่างด้วย

“ท่านมาทีหลัง พอโผล่เข้ามาก็เน้นให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างเส้นแข็งๆและเส้นอิสระ จิตรกรที่ดีต้องคำนึงถึงชีวิตต่างๆในการเขียนภาพ จะเขียนภาพผลไม้ต้องจูงใจให้เนื้อผลไม้น่ากิน ไม่ว่าจะเขียนอะไรต้องสอดใส่ชีวิตลงไปด้วยเสมอ” อาจารย์เฟื้อชอบใจที่ครูคนนี้ป้ายสีได้เด็ดขาด บีบสีจากหลอดอย่างน่ากลัว และป้ายลงไปหนาๆ

เวลานั้น เมื่ออาจารย์เฟื้อ ออกไปเขียนรูปก็จะนำมาให้ขุนปฏิภาคฯวิจารณ์ ท่านก็แนะให้และบอกว่าใช้สีไม่ดี บรรยากาศ(Atmosphere) ยังใช้ไม่ได้ บรรยากาศเป็นหัวใจของการเขียนภาพแบบอิมเพรสชั่นอิสม์ อาจารย์เฟื้อ ได้เรื่องการใช้สี และ น. ณ ปากน้ำ เห็นว่า อาจารย์เฟื้อ ได้แนวความคิดแบบอิมเพรสชั่นอิสม์จากขุนปฏิภาคฯ นี้เอง


ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (ซี.เฟโรจี) พ.ศ. 2505 สีน้ำมัน

ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี (ภายหลังเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร) อาจารย์เฟื้อ ก็ได้มาสมัครเรียนเป็นศิษย์รุ่นแรก ได้เรียนวิชาจิตรกรรมกับพระสรลักษณ์ลิขิต ผู้สำเร็จการศึกษาจากยุโรป เป็นช่างเขียนไทยที่มีฝีมือสูงสุดในขณะนั้น แต่อาจารย์เฟื้อ เรียนได้ปีเดียวก็ลาออก “ท่านสอนแบบโรงเรียนเพาะช่าง ผมเลยไม่รู้ว่าจะเรียนไปทำไม” และได้มาขอเรียนพิเศษกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี.

 
เรียบเรียงโดย เสวก จิรสุทธิสาร

_____________________

จากเรื่อง วิญญาณขบถของชายชื่อ เฟื้อ หริพิทักษ์ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หนังสือ อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ทม. ศิลปินแห่งชาติ


บทความศิลปะ โดย เสวก จิรสุทธิสาร
  1. บุญชัย เรียนศิลปะ
  2. วินสตัน เชอร์ชิล:ชีวิตในฐานะจิตรกร
  3. พระอัจฉริยภาพทางศิลปะของมกุฎราชกุมารอังกฤษ
  4. อาจารย์เฟื้อเรียนศิลปะ
  5. เฟื้อ หริพิทักษ์ จิตรกรอิมเพรสชั่นนิสม์คนแรกของเมืองไทย ?
  6. ไม่มี“สีดำ”ในงานอิมเพรสชั่นนิสม์ไทย ?
  7. วาดอะไรก็ได้ ใครๆ ก็ชอบ
  8. เทคนิคจิตรกรรม
  9. ก่อนคุณจะเริ่มต้นวาดรูปสีน้ำ
  10. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนสเปน
  11. อคาเดมิก อาร์ต และปิกาสโซ
  12. สีน้ำสำหรับการวาดภาพ
  13. มหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549  เชียงใหม่ สวนเบลเยี่ยม
  14. สัดส่วนความงามของคนในงานศิลปะ

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :