Mainmenu  
 
   
กิจกรรม
งานวิจัยและบทความ
ภาพกิจกรรม
โครงการฝึกอบรม
ค้นข้อมูลรางวัล จำนวนนักศึกษา โครงการ/กิจกรรม
รายชื่อนักศึกษาที่สำเร็จ
การศึกษา
แบบประเมิณความพึงพอใจของ
ผู้สำเร็จการศึกษา
ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซท์
เส้นทางงานศิลป์กับก้อนดินในลำธาร
 
 

โอภาส  นุชนิยม
อาจารย์ประจำสาขาเครื่องเคลือบดินเผา
คณะศิลปวิจิตร  สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป

 

 

           การสร้างสรรค์งานศิลปะ สิ่งสำคัญคือการถ่ายทอดความงามทางสุนทรียะ เป็นการแสดงออกถึงความต้องการของผู้สร้างสรรค์ผลงานผ่านเทคนิควิธีการและกระบวนการ ความถนัด ทักษะ ความรู้ที่มีการสะสมบ่มเพาะมาของแต่ละคน  ศิลปิน หรือ ผู้ชื่นชอบ รัก และทำงานด้านศิลปะ หลายต่อหลายคนสร้างสรรค์งาน โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในธรรมชาติ  เช่น ต้นไม้  กิ่งไม้ ใบไม้ ก้อนหิน ดิน ทราย เหนียว  มาถ่ายทอดผ่านมุมมองทางความคิดและจินตนาการ  จนกลายเป็นผลงานอันทรงคุณค่า

          โครงการศิลป์รักษ์ท้องถิ่น  เป็นโครงการที่เกิดจากแนวคิดเดียวกันคือการสร้างสรรค์งานศิลปะที่บริสุทธิ์  โดยคณาจารย์ในสาขาเครื่องเคลือบดินเผา คณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เพื่อมุ่งเน้นที่จะเลือกใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆเป็นองค์ประกอบหลัก

           ก้าวแรก (วันที่๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑) พวกเราอาจารย์และนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้จัดกิจกรรม work shop ภายใต้ชื่อ ปั้นดินให้เป็นดาว  โดยประสานความ ร่วมมือกับชมรมกรุงไทยอาสาธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) เพื่อเผยแพร่ความรู้ในเรื่องงานปั้นให้กับเยาวชนในท้องถิ่น ไร่พึงพอใจ  ใจพอเพียง  เป็นสถานที่จัดกิจกรรม  ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเขาใหญ่   จังหวัดนครราชสีมา    บททดสอบก้าวแรกของพวกเราก็เริ่มขึ้น   เมื่อพวกเราเดินทางโดยรถตู้  จากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่เขาใหญ่ แล้วต่อด้วยรถแทรกเตอร์ เพราะเส้นทางคล้ายเดินหมากหลุม (การละเล่นพื้นบ้านของไทย) ที่ต้องโยกซ้ายเยกขวาตลอดทาง กระเพาะและลำไส้สะเทือนไปถ้วนหน้า    คนขับรถแทรกเตอร์ บอกกับพวกเราว่า ที่นี้ฝนตกลงมาทุกวัน  เลยทำให้เส้นทางเป็นหลุมเป็นบ่อ
          พอถึงที่หมาย พวกเราแทบลืมภาพเส้นทางที่เข้ามา  เมื่อเห็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มการต้อนรับอย่างเป็นกันเอง
โดย พี่ตู่ (คุณนิศานาถ โยธาสมุทร)และทีมงานชมรมกรุงไทยอาสา,น้าป้ำ
(คุณกฤษณะ นาคทน) เจ้าของสถานที่พร้อมทั้งคณะครูที่นำเยาวชนจากหลายโรงเรียน มานั่งรอพวกเราอยู่  มีการแนะนำตัวเล็กน้อย พวกเราก็เริ่มต้นทำงาน โดยแยกย้ายกันไปทำตามหน้าที่ที่ได้ตกลงกันมา   แม้แดดจะร้อนอบอ้าวแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานของพวกเรา
 
          อาจารย์ตุ้ม(นางอัญชุลี อำไพศรี) ,อาจารย์ป๋อม(นางจตุรพร เทวกุล) ,อาจารย์เปี๊ยก(นายโอภาส  นุชนิยม)   คอยกำกับดูแลแผนการทำงานของนักศึกษา ทีมลงทะเบียนก็จะมีนักศึกษาพี่เอ(นายสุทธิรัตน์ สุริยันต์), พี่วุฒิ(นายวราวุฒิ พุ่มงาม), พี่แนท(นางสาวยุวันดา หวานจริง), พี่กวาง(นางสาววราพร โค้วดำรงค์), ชวนน้องเยาวชนมาลงชื่อรับป้ายชื่อคล้องคอ  ส่วนพี่นิ่ม(นายพรศักดิ์ เลิชวนิชกิจกุล), พี่นนท์(นายอานนท์ มาตย์เมือง), พี่เอ็ม(นายกำพล ไอยราพัฒนา), พี่ป่าน(แอออ), พี่อุ้ม(นางสาวดวงใจ ภูฆัง) ก็ช่วยกันจัดเตรียมดินที่จะใช้ในการทำพิธีเปิด

          มีเยาวชนบางคนร่วมติดตาม   ฝ่ายขุดดินนี้ดูจะเริงร่า เพราะต้องขุดดินจากลำธารที่น้าปั้มขุดเพื่อนำน้ำไปใช้ในการเกษตร
ฮุยเลฮุย .. อ้าว ฮุยเลฮุย .. พอขุดได้ดินมาจำนวนหนึ่ง
ก็ช่วยกันนำดินมานวดเป็นก้อน เพื่อจัดเตรียมให้ประธานในพิธีใช้สำหรับลงนาม  ต่อจากนั้นประธานซึ่งมี พี่ตู่ (คุณนิศานาถ
โยธาสมุทร) ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารงานธนาคารชุมชน
บมจ  ธนาคารกรุงไทย, น้าป้ำ (คุณกฤษณะ นาคทน) เจ้าของ
" ไร่พึงพอใจ ใจพอเพียง "อาจารย์พวงเพ็ชร กันยาบาล ศึกษานิเทศน์เชียวชาญ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวพิธีเปิด พิธีการเป็นไปอย่างเรียบง่าย  บรรยากาศเป็นกันเอง  ทั้ง 3 ท่านลงนามลายเซ็นลงในเนื้อดินที่เตรียมไว้  พิธีการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มมีการบรรยายให้ความรู้ เรื่องเทคนิคและวิธีการเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา แก่กลุ่มเยาวชน  เพื่อให้รู้ถึงวิธีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาโดยใช้ดินเหนียวซึ่งหาง่าย ในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงาน สอนให้รู้ถึงคุณค่าและคุณสมบัติของเป็นดินเหนียวเริ่มแรกต้อง รู้วิธีการก่อน นำดินเหนียวไปใช้ ต้องรู้การนวดดินเพื่อให้ดินมีความแน่น เนื้อดินไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป อีกทั้งยังเป็นการหาเศษวัชพืชที่อาจติดมากับดินด้วย   ในเบื้องต้นเริ่มปั้นดินเป็นก้อนกลมเล็กๆ กดให้แบนแล้วเจาะรูเขียนชื่อ ของตนเอง  พร้อมตกแต่งให้สวยงาม  ขั้นตอนต่อไปจึงเริ่มปั้นดินเป็นก้อนกลมใหญ่ขึ้น แล้วเจาะรูตรงกลาง ใช้มือประคองบีบจนเป็นรูปทรงตามที่ต้องการ พร้อมทั้งตกแต่งตามจินตนาการของตนเอง ซึ่งสามารถนำวัตถุดิบใน ธรรมชาติ  เช่น กิ่งไม้ ใบไม้ หรือจะใช้นิ้วมือ  มาสร้างเป็นลวดลายบนพื้นผิว  แต่ที่สำคัญคือใต้ภาชนะต้องเจาะรูเพื่อจะได้นำไปตกแต่งด้วยกิ่งไม้
เมื่อเสร็จ จากเผาเรียบร้อยแล้ว

 
 

         จากนั้นผึ่งลมปล่อยให้แห้งขณะเดียวกัน พวกนักศึกษาก็สอนวิธีการปั้นตัวสัตว์อย่างง่าย ที่มีรูปแบบเฉพาะตัว  เสียงหัวเราะ รอยยิ้ม เริ่มปรากฎบนใบหน้า     เยาวชนดูจะมีสมาธิ  มุ่งมั่น สายตาชำเลืองดูเพื่อนที่ปั้นเสร็จแล้ว  ความสนุกสนานเข้ามาแทนที่ บดบังไอร้อนจากแสงแดด  ก้อนดินเหนียวที่ขุดจากลำธาร กลายเป็นสื่อกลาง สร้างมิตรภาพระหว่างเพื่อนต่างโรงเรียน  ที่ชวนกันสังเกต ช่วยกันดูจนเป็นชิ้นงานของตนเอง   จากนั้นนำชิ้นงานไปผึ่งรอให้ดินแห้ง ระหว่างรอทีมสันทนาการ(จำเป็น) จากพี่เอ, พี่วุฒิ, พี่กวาง, พี่เอ็ม, พี่ป่าน, พี่อุ้ม   ก็ออกมาวาดลวดลายสร้างความครื้นเครง ทั้งร้องทั้งเต้น ทำเอาทุกคนหัวเราะสนุกสนานกันถ้วน เมื่อเสร็จจากสันทนาการ ทุกคนต่างก็แยกย้ายไปจัดการภารกิจส่วนตัว
          ตกเย็นก็นัดเจอกันที่หลุมเผาชิ้นงานกลางลาน การบรรยายเริ่มอีกครั้งด้วยการบอกถึงกรรมวิธีการเผา เทคนิคในการเผาแบบสุมเผากลางแจ้ง เป็นเทคนิคโบราณที่คนในยุคก่อนๆใช้กัน หลุมที่ใช้ในการเผาผลงานครั้งนี้มีขนาด 1 x 2 เมตร x 1 ฟุต เชื้อเพลิงทั้งกิ่งไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ไม้ไผ่ แกลบ ทุกจัดเตรียมวางเป็นระเบียบ เพื่อง่ายต่อการวางสุมเผา


          ขั้นตอนแรก ให้เยาวชนร่วมแรงร่วมใจช่วยกันคนละไม้คนละมือใช้ไม้ใหญ่ใส่ลงไปในหลุม ตามด้วยกิ่งไม้เล็ก ๆ แล้วโรยด้วยแกลบให้ทั่ว นำชิ้นงานทั้งหมดค่อยๆ วางลงบนแกลบ  กระจายให้ทั่วหลุมแล้วใช้แกลบโรยทับอีกครั้งหนึ่ง ตามด้วยกิ่งไม้เล็ก ไม้ไผ่ และไม้ใหญ่วางสุมทับให้ทั่วบริเวณ   เยาวชนช่วยกันจุดไฟพร้อม ๆ กัน ปล่อยให้ไฟลุกลามไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็คอยเติมฟืน แล้วปล่อยให้ไฟเผางานไปตลอดคืนรุ่งอรุณวันใหม่(วันที่ ๒ พฤศจิกายน
พ.ศ. ๒๕๕๑) เยาวชนหลายคนตื่นแต่เช้า ยิ้ม สวัสดี ทักทายพวกเรา  เมื่อมากันพร้อมแล้วก็ช่วยกันค่อย ๆ เขี่ยชิ้นงานออกจากเตา มันเป็นช่วงลุ้นระทึกของทุกคนที่รอดูผลงานของตนเอง ชิ้นงานที่ออกมาจะมีลักษณะสีดำบ้าง ส้มบ้าง เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเผาด้วยวิธีนี้  บางชิ้นก็ไม่สุกเกิดเพราะความร้อนของไฟลงไปไม่ถึงด้านล่าง ข้อสรุปคราวๆในการเรียนรู้การเผาครั้งนี้ ส่วนที่แกลบเป็นสีขาว ชิ้นงานบริเวณนั้นจะเป็นสีส้ม  ส่วนไหนที่แกลบเป็นสีดำ ชิ้นงานก็จะเป็นสีดำ อันเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์  เมื่อผึ่งลมจนชิ้นงานเย็นลง เยาวชนเข้ามาเลือกงานของตนเอง  แล้วใช้กิ่งไม้มาประดับตกแต่ง เป็นการเสร็จสิ้นกระบวนการเครื่องปั้นดินเผา 
ผลงานทุกชิ้นถูกนำมาจัดวางเรียงบนโต๊ะไม้ขนาดใหญ่   ทุกคนมาห้อมล้อมรอบโต๊ะพร้อมฟังการสรุปเนื้อหาความรู้ทั้งหมด   ตลอดจนซักถามปัญหาที่พบเจอ  ชวนกันวิเคราะห์สาเหตุ ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาปิดท้าย



          
ความประทับใจที่ยังอยู่ในใจของทุกคน   ทุกครั้งที่ระลึกถึงยังอมยิ้มนึกถึงกิจกรรมตลอดเวลา 2 วัน 1 คืน พวกเราร่ำลาพร้อมเดินทางกลับกรุงเทพฯ   มีโอกาสพวกเราจะกลับมาเยือนอีกครั้ง ด้วยการแนะนำเทคนิคและวิธีการต่างๆ ให้เยาวชนทราบก่อนปิดกิจกรรม  น้าป้ำและพี่ตู่ เป็นประธานกล่าวปิด มอบของที่ระลึกให้แก่กัน  แล้วร่วมกันถ่ายรูปหมู่ เก็บไว้เป็นภาพความทรงจำ


          ครงการครั้งนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ การทำงานอย่างตั้งใจ ความภูมิใจของพลังวัยรุ่นกลุ่มนักศึกษา และรอยยิ้มบนใบหน้าที่เอิบอิ่มเต็มไปด้วยความสุขของเยาวชนความรู้เรื่องเทคนิคกระบวนการการ
เผางานเครื่องปั้นดินเผาคงเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ครูสามารถนำความรู้ที่ได้รับในครั้งนี้ไปปรับ ประยุกต์ใช้ ใน การเรียนการสอน และนี่....อาจเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เยาวชนสามารถใช้ความรู้ที่ได้รับ นำไปพัฒนาจนสามารถสร้างรายได้หรือประกอบเป็นอาชีพให้กับครอบครัว