หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ >ภารกิจของวิทยาลัยช่างศิลปในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ
ภารกิจของวิทยาลัยช่างศิลปในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ

โดย สนั่น รัตนะ

นับเป็นครั้งที่ 2 ของภารกิจในการเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานพระเมรุที่วิทยาลัยช่างศิลป ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานเขียนฉากบังเพลิง ครั้งแรกเมื่องานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนคริน- ทราบรมราชชนนี เมื่อปี พ.ศ. 2539 และในปีนี้ (พ.ศ. 2551) วิทยาลัยช่างศิลปได้รับภารกิจในการ เป็นคณะทำงานเขียนฉากบังเพลิงในงานพระเมรุสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง-นราธิวาสราชนครินทร์ โดยทำงานร่วมกับคณะศิลปวิจิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

การทำงานครั้งนี้ วิทยาลัยช่างศิลปโดยภาควิชาศิลปะไทย ซึ่งประกอบด้วยคณะทำงานเขียน ฉากบังเพลิงชุดเดิมเมื่อครั้งงานพระเมรุมาศสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้รับมอบหมายให้ เขียนฉากบังเพลิงและงานในส่วนอื่นเพิ่มขึ้นอีกประกอบด้วยงานต่าง ๆ ดังนี้

1. ออกแบบเขียนฉากบังเพลิงพระเมรุ โดยออกแบบด้านหน้าตอนกลาง เป็นลวดลายเทวดา นางฟ้า เหาะอัญเชิญเครื่องสูง เป็นสัญลักษณ์ของขบวนแห่ส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สรวงสวรรค์ 2 ด้าน ติดตั้งทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพระเมรุ และลวดลายเทวดา นางฟ้า เหาะบรรเลงดุริยดนตรี เป็นสัญลักษณ์ของการบรรเลงดีด สี ตี เป่า บรรเลงส่งเสด็จสู่สรวงสรรค์ 2 ด้าน ติดตั้งทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของพระเมรุทั้ง 4 ด้านจะมีรูปแบบลวดลายเทวดา นางฟ้า ไม่ซ้ำแบบกัน แต่อยู่ภายใต้แนวคิดเดียวกัน คือ เทวดา นางฟ้าเหาะด้านละ 8 องค์ บนพื้นสีฟ้าคราม ซึ่งเป็นสีประจำ พระองค์และสีที่ทรงโปรด
ส่วนช่องด้านบน จะเป็นลวดลายตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ก.ว. ประกอบลวดลายโคมอัจกลับหรือโคมหวดลายก้านขดดอกแก้วกัลยา มีความหมายถึงแสงสว่างที่พระองค์ประทานแก่ปวงชนชาวไทย ซึ่งหมายถึง การประทานความรู้ให้แก่คนไทย ลวดลายชุดนี้จะเหมือนกัน โดยรอบ รวมจำนวน 16 ชิ้น
ช่องด้านล่าง เป็นลวดลายประดิษฐ์ดอกแก้วกัลยามีที่มาจากดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกแก้วกัลยาที่พระองค์ท่านประทานเป็นมิ่งขวัญ เป็นสัญลักษณ์แก่คนพิการ โดยออกแบบลวดลายขึ้นมาใหม่ เป็นองค์ความรู้ทางวิชาการ นับเป็นพัฒนาการของศิลปกรรมไทย ในวาระนี้ช่องนี้ จะเหมือนกันโดยรอบมีจำนวน 16 ชิ้น เช่นเดียวกันทั้ง 3 ช่อง รวม 48 ภาพ
ด้านหลัง ซึ่งอยู่ด้านในของพระเมรุ การแบ่งช่องเช่นเดียวกับด้านหน้า เขียนเป็นลวดลาย ดอกแก้วกัลยาเหมือนกันทั้ง 4 ด้าน ลวดลายทองบนพื้นแดง มีการให้น้ำหนักอ่อนแก่ของใบและความแตกต่างของสีทองระหว่างดอกกับใบเพื่อให้ภาพเกิดมิติงดงาม โทนภาพสีแดงนั้นมีที่มาจากสีประจำวัน ประสูติของพระองค์ จำนวนของภาพที่จะต้องเขียนชุดนี้ 48 ภาพ

2. ฉากบังเพลิงชุดที่ 2 ออกแบบและเขียนเพื่อติดตั้งบนพระเมรุ มีเพียงชุดเดียวโดยการแบ่ง ออกเป็น 8 ชิ้น ประกอบกันเป็น 1 ชุด และมีลวดลายประกอบช่องบนและล่างเช่นเดียวกัน มีจำนวน ทั้งหมด 24 ภาพ
ออกแบบเป็นลวดลายเทวดายืนบนแท่นถืออาวุธจำนวน 8 องค์ บนพื้นสีน้ำเงิน ส่วนด้านหลังอีก 24 ภาพนั้นไม่เน้นความสำคัญ เนื่องจากอยู่ด้านในเขียนเป็นเพียงลวดลายดอกไม้ร่วง เพื่อไม่ให้เกิดความว่างเท่านั้น

3. ลวดลายผนังพระเมรุด้านใน มีขนาดความสูงประมาณ 7 เมตร รวมพื้นที่โดยประมาณมากกว่า 200 ตารางเมตร
ออกแบบและเขียนเป็นลายดอกแก้วกัลยาพุ่มเข้าบิณฑ์ มีลวดลายกรวยเชิง ด้านบนและล่างบนพื้นที่สีฟ้าและรวมไปถึงลวดลายประกอบอื่น ๆ ที่จะต้องตกแต่งประดับลวดลายให้เต็มพื้นที่ภายใน
และในส่วนนี้ด้านบนจะมีกรอบสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 70 X 290 เซนติเมตร อีก 4 ช่อง ที่จะต้องเขียนเป็นภาพเทวดาเหาะหรืออาจเปลี่ยนแปลงได้ตามระยะเวลาที่เหลือที่จะต้องเสร็จให้ทันตามเวลา

ภารกิจที่วิทยาลัยช่างศิลปได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานทั้ง 2 ครั้ง ย่อมแสดงให้เห็น ถึงความสามารถในเชิงช่างของครู อาจารย์ที่แสดงฝีมือให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงคุณภาพของครูที่มีทักษะประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ สร้างความเชื่อมั่น เป็นผู้มีความพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้ นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้สืบสานมรดกทางศิลปะของชาติให้ยืนยงคู่ชาติไทยตลอดไป.

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :