หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ >พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ล้ำค่าในการศึกษาศิลปะ
พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ล้ำค่าในการศึกษาศิลปะ

โดย บุญพาด ฆังคะมะโน

นานาอารยประเทศล้วนแล้วแต่มีพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ระดับพื้นถิ่นไปจนถึงระดับชาติ ตั้งอยู่มากมาย แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมและความเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและวัฒนธรรม ปรากฏให้เห็นทั้งในรูปแบบของศิลปกรรมด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม ดนตรี วรรณกรรม และรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งนอกจากเป็นแหล่งความรู้ด้านต่าง ๆ แล้วยังเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ และมีอิทธิพลสูงต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์ศิลปะในปัจจุบันและอนาคต

ประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและเจริญรุ่งเรือง มักมีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากเป็นเงาตามตัว สามารถชี้ให้เห็นรูปแบบการดำเนินชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศนั้น ๆ

พิพิธภัณฑ์ศิลปะมีความสำคัญตามที่สายตาของประเทศที่เจริญแล้วมองเห็นและมีน้ำหนักพอที่จะทำให้เราไม่อาจปฏิเสธความสำคัญนั้นได้ รัฐจึงควรสนับสนุนให้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะระดับต่าง ๆ ให้มาก จึงจะมีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกกับนานาประเทศว่าเราเจริญแล้ว

ในด้านการศึกษาศิลปะ ในประเทศที่มีพิพิธภัณฑ์มาก นักศึกษาศิลปะจะได้รับแบบอย่างในการเรียนรู้มาก ทั้งในด้านรูปแบบทางศิลปกรรมความรู้เรื่องราวในอดีตด้านต่าง ๆ และแบบอย่างทางพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของศิลปินผู้ สร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อเสียง ย่อมมีอิทธิพลต่อแนวทางการเรียนรู้และวิธีการในการสร้างสรรค์ผลงาน มีการสืบทอดและพัฒนารูปแบบอันเป็นแบบอย่างต่อศิลปินในปัจจุบันและอนาคตสืบเนื่องไปเรื่อย ๆ

ในขณะเดียวกัน สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดาและปกติ กล่าวคือ ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การดำรงชีวิตอย่างธรรมดา เป็นอยู่อย่างพอเพียง และวิถีชีวิตตามปกติตามรูปแบบวัฒนธรรมประเพณีนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่ ไร้ขอบเขตที่เราสามารถเรียนรู้ ซึมซับแรงบันดาลใจ และใช้เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด ที่ศิลปินและนักศึกษาศิลปะสามารถเรียนรู้ และใช้เป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์งานศิลปะได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น

ผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารการศึกษาศิลปะในระดับต่าง ๆ หรือแต่ละภาคส่วน ต้องบันดาลให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบ เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการเรียนรู้ของนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะให้มีทั่วถึงทุกพื้นที่ ดูแลสภาพแวดล้อมและธรรมชาติให้สวยงามสมบูรณ์ สนับสนุนการดำรงชีวิตตามปกติของทุกพื้นถิ่น และจัดสภาพแวดล้อมของสถาบันการศึกษาศิลปะอย่างเหมาะสม เป็นต้น

นักศึกษาศิลปะต้องถือว่าเรามีสิ่งรอบข้างเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งพิพิธภัณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ สุดแต่ว่าผู้ใดจะรู้จักสังเกต รู้จัก เก็บเกี่ยวความรู้หรือข้อมูล และฝึกฝนตนเองจากแบบอย่างในแหล่งเรียนรู้เหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด

สถาบันการศึกษาศิลปะ จำเป็นต้องเห็นความสำคัญของสภาพแวดล้อมภายในและรอบ ๆ สถาบัน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติของนักศึกษาให้สวยงามเหมาะสมและเพียงพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ โดยจัดให้ทุกบริเวณในสถาบันเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ที่นักศึกษาสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและเพียงพอทั่วถึง

การมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะหรือหอศิลป์ของสถาบันนับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญเปรียบเสมือนห้องสมุดที่เป็นรูปธรรมที่นักศึกษาได้ดู และศึกษาจากผลงานศิลปะจริง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาในบางรายวิชา เช่น การวิเคราะห์วิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยสามารถนำนักศึกษาเข้าไปศึกษา วิเคราะห์วิจารณ์ศิลปะจริง ๆ ในหอศิลป์ ไม่ใช่ศึกษาจากเอกสารตำราอย่างเดียว และไม่ได้ใช้ประโยชน์จากของมีค่าที่เรามีอยู่แต่อย่างใด

สถาบันการศึกษาจะต้องเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปดูและศึกษาได้ตลอดเวลา หอศิลป์ของสถาบันจึงเป็นสถานที่ที่เปิดให้บุคคลจากภายนอกมาเยี่ยมชม และเป็นสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักศึกษาเข้าไปศึกษาได้อย่างเต็มที่ เพื่อว่าในที่สุดแล้ว ความเก่งกล้าของนักศึกษาจะทำให้ประตูหอศิลป์ของสถาบันเปิดกว้างขึ้นในอนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :