หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ > อยู่อย่างอยาก(ฉันทะ) อย่าอยู่อย่างอยาก(ตัณหา)
อยู่อย่างอยาก(ฉันทะ) อย่าอยู่อย่างอยาก(ตัณหา)

โดย บุญพาด ฆังคะมะโน

ในสังคมไทย มีผู้คนมากมายที่จะต้องอาศัยการฝึกฝนตนให้หลุดพ้นจากความอยาก ด้านกิเลสตัณหา อันจะนำพาประเทศชาติดำดิ่งเข้าสู่สังคมบริโภคนิยมรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้ที่มีความอยากด้านตัณหา อยากได้ในสิ่งที่ตนต้องการแม้สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ตนไม่ได้สร้าง แต่เป็นของผู้อื่น จึงหาวิธีที่จะทำให้ได้มาเป็นของตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ขอ ยืม ซื้อ ฉ้อฉล หลอกลวง ขโมย หรืออาศัยโชคลาภ เป็นต้น ในขณะที่ภายในจิตใจมีความอิจฉาริษยาผู้ที่มีสิ่งที่ตน ไม่มี มีความคิดในทางทำลายเมื่อเห็นใครดีกว่าหรือมีมากกว่าตน

หลาย ๆ คนสนองความอยากโดยพึ่งโชคลาภหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเครื่องรางของขลัง เป็นความอยากรวยของคนขี้เกียจ เป็นความอยากสุขสบายและความปลอดภัยโดยไม่ต้องทำความดี

คนจนมักมีความเครียดเพราะความจน ในขณะที่ตนกำลังประพฤติปฏิบัติในทางที่เป็น สาเหตุแห่งความจนอยู่ ดังคำกล่าวที่ว่า จน เครียด กินเหล้า เมื่อยากจนทำให้เกิดความเครียด เมื่อเครียดก็ดื่มเหล้า ยิ่งทำให้จนลงไปอีก เพราะตนผลิตเหล้าไม่ได้จึงต้องใช้เงินซื้อและเมื่อดื่มเหล้า ก็ไม่ได้ทำงานจึงไม่มีรายได้ ต้องมีหนี้สินล่มจม

สำหรับคนไทยที่ฟุ้งเฟ้อนั้น เมื่อเห็นสิ่งดี สวยหรู ทันสมัยก็อยากได้เป็นเจ้าของ แม้ต้องซื้อหามาในราคาแพงก็ตาม เพื่อสนองความฟุ้งเฟ้อโอ้อวด แต่ไม่ได้สนใจเรียนรู้การสร้างสิ่งที่ ตนต้องการหรือสนใจที่จะผลิตขึ้นมาเอง แม้ว่าเรามีวัตถุดิบอยู่มากมายก็ตามแต่ไม่พยายามเรียนรู้ ไม่พยายามคิดหาวิธีที่จะใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์ ในที่สุดวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์นั้นก็ถูก ชาวต่างชาติที่มีปัญญาเขาซื้อไปในราคาถูกเพราะเราไม่เห็นคุณค่าหรือราคาของสิ่งเหล่านั้น แต่ ชาวต่างชาติเขาใช้ปัญญาและฉันทะไปทำให้วัตถุดิบเหล่านั้นมีคุณภาพและราคาสูง นำกลับมาขายเรา ในราคาแพง และเราซื้อมาด้วยความยินดีเพราะเราได้คุยโวว่าเรามีเราใช้ของดีของแพง เราอยากได้โดยที่เราไม่ต้องทำเอง ขาดฉันทะในการสร้างปัญญา เราจึงต้องเสียเปรียบต่างชาติเช่นนี้ตลอดไป

สังคมเช่นกล่าวนี้ ชี้นำให้เยาวชนรุ่นหลังเจริญรอยตาม โดยจะเห็นว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มักทำตัวฟู่ฟ่า ชอบความสะดวกสบาย ไม่ขวนขวายและมัวเมาในสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะผู้ใหญ่ ในสังคมเป็นแบบอย่าง

โดยที่จริงแล้วเยาวชนที่เป็นนักเรียนจำเป็นจะต้องมีฉันทะในการควบคุมตนเอง ฝึกฝนตนเองให้มีพื้นฐานความรู้และพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ

ในส่วนของนักศึกษาทางศิลปะส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ หลายคนมีความฝัน อยากเก่ง อยากเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงหรืออยากมีงานทำที่ดีในอนาคต แต่การประพฤติปฏิบัติตนในขณะที่ศึกษา อยู่นั้น ยังไม่มีความพยายามหรืออดทนต่อการฝึกฝน เรียนรู้ อันจะเป็นทางสู่ความฝันของตน ทำให้ ขาดจุดหมายในการศึกษา ขาดความกระตือรือร้น หาข้ออ้างที่เป็นอุปสรรคต่าง ๆ นานา แม้จะมีผลงานของศิลปินในอดีตเป็นแบบอย่างที่ดี แต่นักเรียนนักศึกษามักหลงใหลเพียงความงามใน ชิ้นผลงานนั้น และตนก็อยากทำได้เช่นนั้นด้วย โดยที่ตนขาดความสนใจเรียนรู้และฝึกปฏิบัติตาม เส้นทางแห่งความสำเร็จหรือเส้นทางชีวิตของศิลปินเหล่านั้น

ศิลปะ หมายความว่า ความสำเร็จที่บวกกันเข้ากับความงดงามและบวกกันเข้ากับความมี ฝีมือ เป็นความหมายของศิลปะของท่าน พุทธทาสภิกขุ (ธรรมปราโมทย์ : ตามรอยพุทธทาส ภาคหลักธรรม, ธรรมสภา : สถาบันบันลือธรรม , กรุงเทพฯ , 2549. หน้า 123)

ในความหมายนี้ผลงานศิลปะ หรือศิลปกรรม เป็นตัวแทนหรือหลักฐานจากความมีศิลปะ เป็นผลผลิตของผู้มีวิญญาณแห่งศิลปินศิลปินจึงหมายถึงผู้ประพฤติหรือกระทำโดยหวังผลสำเร็จ ของความงดงามและความมีฝีมือ

ความมีฝีมือ คือ ความสำเร็จอันเกิดจากการกระทำในสิ่งที่จะนำมาซึ่งความงดงาม ที่ทำได้โดยยาก ทำจนได้ความละเอียดอ่อน ต้องอาศัยสมาธิและฉันทะอย่างสูง

การที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จในความมีฝีมือนั้นจะต้องอาศัยความอยากด้านฉันทะ คือ มีความอยากปฏิบัติ อยากฝึกฝนอย่างอดทนพยายามและเต็มไปด้วยสมาธิ จนสำเร็จในสิ่งที่ตน ปรารถนาอยากจะได้ เป็นการได้โดยเกิดแต่การปฏิบัติของตนโดยตรง

ผู้ที่มีความอยากด้านฉันทะนั้น รู้ดีว่ามีความยากลำบาก ในการที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการ อันเกิดจากความพยายามของตน จึงย่อมจะเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น รู้ว่าผู้อื่นก็ได้มาด้วยความยากลำบากเช่นกัน และสิ่งที่ได้มาโดยฉันทะนั้นย่อมมีคุณค่าสูงส่งต่อตนและผู้อื่น

ในระบบการศึกษามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจ ให้นักเรียนนักศึกษา หันมาสนใจ และใส่ใจในการสร้างพื้นฐานอันแข็งแกร่ง และกระตือรือร้นในการฝึกฝนตนเองด้วย จิตสำนึกและความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ไม่หลงใหล มัวเมากับความฟุ้งเฟ้อ เพื่อจะได้เป็นกำลัง สำคัญในการนำพาประเทศชาติไปในทางเจริญอย่างพอเพียงและปกป้องสังคมไทยไม่ให้ล่องลอยอยู่ ในห้วงเวหาของโลกบริโภคนิยมมากไปกว่านี้

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :