หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ >
ศิลปะ Neo Expressionism : เหตุปัจจัยและความเป็นมา
ศิลปะ Neo Expressionism : เหตุปัจจัยและความเป็นมา

โดย ธีรยุทธ จั่นฝังเพ็ชร


การเคลื่อนไหวของกลุ่มศิลปะใด ๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุและปัจจัยของสังคม เพราะศิลปินเป็นคนในสังคม ที่ชี้นำประเด็นอันเป็นผลจากความสะเทือนใจที่ตนมีต่อสังคม สภาพแวดล้อม ความเชื่อและวิถีชีวิต แสดงออกในรูปแบบทางสุนทรียะ ดังนั้น การจะเข้าถึงความคิดและการแสดงออกทางศิลปะใด ๆ จึงควรศึกษาถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ด้วย ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลความเป็นมาอันเป็นบ่อเกิดของศิลปะ Neo Expressionism โดยสังเขป

สภาวการณ์ของสังคมโลกโดยภาพรวมหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒
สภาวะของสังคมโลก นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ โลกมิได้สงบลงอย่างที่ควรจะเป็น เพราะผลจากสงครามที่ยึดเยื้อยาวนานก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ความเสื่อมโทรมทั้งทางวัตถุและจิตใจ นอกจากนั้น ยังเกิดความขัดแย้งขึ้นในแทบทุกภูมิภาคของโลก รวมไปถึงสภาวะของสงครามเย็น อันเป็นความขัดแย้งของอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต ก่อให้เกิดสภาพที่ตึงเครียด เพราะหวาดกลัวต่อการเกิดสงครามครั้งใหม่ ซึ่งแนวโน้มว่าจะเป็นสงครามนิวเคลียร์ อันจะยังผลให้เกิดหายนะที่คาดการณ์ไม่ได้
ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับยุโรป ได้กลายมาเป็นประเทศผู้นำของโลกฝ่ายเสรีอย่างเต็มตัว ประเทศอเมริกาเจริญก้าวหน้าอย่างที่สุด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิถีชีวิตแบบอเมริกันเป็นต้นแบบของความใฝ่ฝันของผู้คนทั่วทั้งโลก และสังคมอเมริกาก็ก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมบริโภคไปในที่สุด
โลกในยุคหลังสงครามเป็นโลกที่สับสนอลหม่าน มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เป็นโลกที่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวัตถุ แต่วิถีชีวิตของผู้คนกลับตกต่ำเสื่อมทรามลง เป็นโลกที่สะดวกสบายของประเทศที่เจริญแล้วกับโลกที่ด้อยโอกาสและยากจนของกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา โลกของกลุ่มประเทศเสรีและโลกของกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์

สภาวการณ์ของวงการศิลปะโดยภาพรวมหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒
วงการศิลปะหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยังคงมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องอันเกิดจากกลุ่มศิลปินยุโรปที่ลี้ภัยสงครามและภัยการเมืองเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรยากาศของวงการศิลปะในอเมริกาคึกคัก เฟื่องฟู กลายเป็นศูนย์รวมของการเคลื่อนไหวทางศิลปะของโลก
ในราวทศวรรษที่ ๑๙๕๐ ศิลปะลัทธิแรกก็ได้เกิดขึ้นในอเมริกา คือ ศิลปะ Abstract Expressionism ในราว ๆ ปลายทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เกิดศิลปะ Pop Art ซึ่งถือได้ว่าเป็นศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตแบบอเมริกาอย่างแท้จริงแล้ว แม้ว่าจะมีจุดกำเนิดจากประเทศอังกฤษก็ตาม และในกลางทศวรรษที่ ๑๙๖๐ เกิดศิลปะ Minimal Art ที่มีแนวคิดต่อต้านศิลปะ Pop Art จนกระทั่งการปรากฏขึ้นมาของศิลปะแบบ Conceptual ที่เน้นเรื่องของความคิดและแตกหน่อต่อยอดออกไปเป็นศิลปะรูปแบบอื่น ๆ เช่น Body Art , Performance Art, Earth Art เป็นต้น ในระหว่างนี้วงการศิลปะฝั่งยุโรปที่บอบช้ำจากพิษของสงครามก็ค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น โดยมีกระแสที่ปฏิเสธศิลปะ Pop Art ด้วยศิลปินยุโรปมองว่า ศิลปะ Pop Art เป็นศิลปะที่สะท้อนวิถีที่เหลวไหล ไร้รากวัฒนธรรมของอเมริกา ได้มีการรวมตัวจัดแสดงมหกรรมศิลปะที่เน้นผลงานแนวก้าวหน้า ที่เมือง Kassel ประเทศเยอรมันตะวันตก เรียกว่า การแสดงศิลปกรรม Documenta ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ ต่อมาในทศวรรษที่ ๑๙๗๐ เป็นยุคเฟื่องฟูของศิลปะแนวคิดใหม่ การแสดงออกด้วยสื่อใหม่

อิทธิพลที่ได้รับ
นอกเหนือจากเหตุปัจจัยของสภาพสังคมแล้ว อิทธิพลทางศิลปะก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างสรรค์ อิทธิพลที่มีผลต่อการสร้างสรรค์และการแสดงออกของศิลปะ Neo Expressionism นั้น พอสรุปได้โดยสังเขป ดังนี้
๑. อิทธิพลจากลัทธิศิลปะ Expressionism
มีบทบาทและเคลื่อนไหวอยู่ในระหว่างช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในประเทศเยอรมัน มี ๒ กลุ่มด้วยกัน คือ
๑.๑ กลุ่ม Die Brucke เกิดขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๐๕ – ๑๙๑๓ ศิลปินคนสำคัญ เช่น Ernst Ludwig Kirchner, Karl schmidt Rottluff, Eric Heckel, Emile Nolde
๑.๒ กลุ่ม Der Blaue Reiter เกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๑๑ - ๑๙๑๔ ศิลปินคนสำคัญ เช่น Franz Marc, Wassily Kandinsky, Max Beckmann
มีแนวความคิดนำเรื่องราวของสังคมในยุโรปที่เสื่อมโทรม ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม แสดงออกมากอย่างตรงไปตรงมาและรุนแรง มีการบิดเบือนรูปทรงเพื่อสนองความรู้สึกที่บีบคั้น อึดอัด ใช้สีที่สดดิบ น้ำหนักที่เข้มข้น
๒. อิทธิพลจากแนวคิดของศิลปิน Joseph Beuys
Joseph Beuys เป็นศิลปินเยอรมัน เกิดเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๒๑ ที่เมือง Krefeld เสียชีวิตปี ค.ศ. ๑๙๘๖ ที่เมือง Dusseldorf เขาเป็นศิลปินที่บทบาทและอิทธิพลสูงสุดของโลกศิลปะคนหนึ่งเขาสร้างสรรค์ผลงานในแบบ Conceptual Art เป็นสมาชิกคนสำคัญของกลุ่ม Fluxus เขามีแนวคิดว่าศิลปะกับชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแยกไม่ออก การคงอยู่และพฤติกรรมของมนุษย์ต่างล้วนมีความสำคัญในแง่การสร้างสรรค์และเป็นการสร้างสรรค์เพื่อหล่อหลอมวัฒนธรรมและสังคมไปสู่จุดมุ่งหมายอันดีงาม เขาต่อต้านลัทธิบูชาวัตถุและการแบ่งผิว ผลงานของเขาเน้นแนวความคิด ๓ ประการ คือ เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสังคม
ผลงานของเขาใช้วัสดุหลากหลายเพื่อเป็นสัญลักษณ์ และเพื่อการแสดงออกของเขา เช่น ผ้าขนสัตว์ ตะกั่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุสำเร็จรูป
ศิลปินหลายคนกลุ่ม Neo Expressionism เป็นลูกศิษย์ของ Beuys ดังนั้นพวกเขาจึงได้รับเอาแนวคิดของ Beuys ไปต่อยอดในการสร้างสรรค์ผลงานของตน
๓. อิทธิพลศิลปะ Surrealism
เป็นการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่สำคัญและมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะ เป็นการยากยิ่งที่จะให้คำจำกัดความของ Surrealism แต่อาจสรุปได้เพียงว่า Surrealism คือ วิญญาณนิยมที่ถือว่าชีวิตมีอยู่ได้เพราะวิญญาณ เท่ากับว่า Surrealism สร้างให้สรรพสิ่งทั้งหลายที่ไร้วิญญาณปราศจากชีวิตกลับมีชีวิตชีวาขึ้นมา พวกเขาได้สร้างสรรพสิ่งที่เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะสรรพสิ่งเหล่านี้เกิดมาจากความเหลวไหล ความน่าประหลาดอัศจรรย์ของความฝันของจิตไร้สำนึก นำมารวมอย่างไม่ลงรอยกันเป็นความรับรู้ใหม่ ๆ เป้าหมายของ Surrealism ไม่ได้อยู่ที่การผลิตศิลปะ หากแต่เป็นเครื่องมือสำรวจสิ่งซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวมนุษย์ ภาพที่เกิดขึ้นในจิตไร้สำนึกจะเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง พร่ามัว น่าอัศจรรย์ ปราศจากเหตุผล และบางครั้งดูเป็นสิ่งลึกลับ ศิลปินคนสำคัญ เช่น Salvador Dail, Max Ernst
๔. อิทธิพลจากสภาพแวดล้อม
ข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ นวนิยายน้ำเน่า เทพนิยาย มหากาพย์ บทกวี ดนตรี ปรัชญา ความเชื่อและศิลปกรรมในอดีต สิ่งเหล่านี้เป็นอิทธิพลในส่วนของเรื่องราวและเนื้อหาในภาพ ซึ่งศิลปินได้นำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงดลใจใจการสร้างสรรค์
๕. อิทธิพลศิลปะ Pop Art, Minimal Art, Conceptual Art
อิทธิพลของศิลปะเหล่านี้ เป็นไปในลักษณะของการปฏิเสธ ต่อต้านและมีปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน

ดังที่กล่าวมา พอสรุปได้ว่า โลกหลังสงครามยังคงเต็มไปด้วยปัญหาความยุ่งยาก สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ความเสื่อมโทรมทางจิตใจและศีลธรรม ความตึงเครียดจากสภาพสงครามเย็น แต่ราวปลายทศวรรษที่ ๑๙๕๐ เป็นต้นไป กระแสศิลปะของโลกกลับมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ศิลปินมีอิสระอย่างกว้างขวางในเรื่องเนื้อหา ความคิด เทคนิค วัสดุ และการแสดงออกที่มีความแตกต่างไปจากศิลปินในอดีตอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าวงการศิลปะโลกพัฒนาก้าวหน้าอย่างยิ่ง แต่ศิลปินบางคนกลับเห็นว่า ศิลปะที่ก้าวหน้าเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงหรือสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์สมัยใหม่ได้ พวกเขาจึงหันกลับไปใช้วิธีการวาดภาพแบบดั้งเดิม แต่ด้วยแนวคิดที่ต่อต้าน ปฏิเสธกฎเกณฑ์เดิม ๆ แสดงออกด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรง ตึงเครียด บีบคั้น เร้นลับดิบหยาบในรูปแบบ figurative และต่อมานักวิจารณ์เรียกศิลปะแบบนี้ว่า ศิลปะ Neo Expressionism นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจุดหนึ่งของยุคสมัยใหม่ที่ก้าวสู่ยุคหลังสมัยใหม่

เอกสารอ้างอิง
กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพ : ไทยพัฒนาพานิช, ๒๕๒๘.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปศตวรรษที่ ๒๐. กรุงเทพ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๕.
Godfrey, Tony. The New Image Painting in the 1980s. Oxford : Phaidon Press, 1986.
The Prestel Dictionry of Art and Artist in the 20th century. Munich : Prestel Verlag, 2000.

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :