หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ > ศิลปะ Neo Expressionism : การหวนคืนของงานจิตรกรรม
ศิลปะ Neo Expressionism : การหวนคืนของงานจิตรกรรม

โดย ธีรยุทธ จั่นฝังเพ็ชร

ศิลปะแบบ Neo Expressionism มีจุดกำเนิดขึ้นในราวๆ ปลายทศวรรษที่ 1970 และเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในราวต้นทศวรรษที่ 1980 จนกระทั่งถึงกลางทศวรรษที่ 1980 คำว่า Neo Expressionism ถูกนำมาใช้ครั้งแรกอย่างไรไม่มีเอกสารยืนยันชัดเจน แต่ในปี ค.ศ. 1982 ได้แพร่หลายออกไปในฐานะของคำที่เรียกขานศิลปะแนวใหม่ในเยอรมันและอิตาลี ต่อมาคำว่า Neo Expressionism ได้กลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกร่วมกันของผลงานศิลปินกลุ่ม Trans Avant Grade ในอิตาลี และกลุ่ม New Image ในอเมริกา ด้วยมีลักษณะการสร้างสรรค์และการแสดงออกถึงความรู้สึกภายในที่คล้ายคลึงกัน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงอิทธิพลและแหล่งบันดาลใจที่ไม่แตกต่างกัน

ศิลปะ Neo Expressionism มีปฏิกิริยาต่อต้านงานศิลปะ Conceptual Art และศิลปะในกลุ่ม Modernist โดยย้อนกลับไปสร้างสรรค์ผลงานเทคนิคจิตรกรรมและได้รับแรงบันดาลใจจาก ศิลปะ Modern Art และศิลปะก่อน Modern Art ศิลปินกลุ่มนี้ละทิ้งศิลปะแบบ Minimal Art ที่มีข้อจำกัดและศิลปะ Conceptual Art ที่ชืดชาต่อการแสดงออกทางอารมณ์ พวกเขาได้ใช้การแสดง ความรู้สึกอย่างรุนแรง ใช้ความหมายและสัญลักษณ์ที่ในอดีตเป็นสิ่งต้องห้าม ผ่านอากัปกิริยาของรูปทรงคนและการแสดงออกในเชิงอุปมาอุปไมย

เป็นการยากที่จะระบุถึงลักษณะโดยทั่วไป หรือ เนื้อหาสาระของศิลปะ Neo Expressionism เพราะศิลปะนี้ได้รับจินตภาพจากหลายแหล่ง อาทิเช่น ข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ ความฝันเฟื่องแบบศิลปะ Surrealism ไปถึงเทพนิยายคลาสสิคและนิยายน้ำเน่า ตลอดจนการอ้างอิงถึงศิลปะ Expressionism อันเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมันนี

มีการใช้รูปแบบที่หลากหลายแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะตัวของศิลปิน ผลงานเน้น ความเป็น Figurative Art แสดงออกในแบบ Representation และนิยมใช้ลักษณะการพรรณนาเล่าเรื่อง หรือการอุปมาอุปไมย มีการใช้สัญลักษณ์ที่ยากต่อการตีความเพราะเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน

ผลงานสะท้อนถึงสภาวะของจิตใจอันเป็นผลกระทบจากสังคมในโลกยุคใหม่ การต่อต้าน รสนิยมของชนชั้นกลาง ความเสื่อมโทรมของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ความไม่แน่นอนของชีวิต ความหวาดวิตกอันเนื่องมาจากสงคราม ความตึงเครียดจากการเผชิญหน้ากันในรูปแบบสงครามเย็น ของสองประเทศมหาอำนาจสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตที่ล่อแหลมต่อการเกิดสงครามนิวเคลียร์ ชีวิตที่บริโภคจนกระทั่งตัดขาดจากรากเหง้าวัฒนธรรมดั้งเดิม การใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยขาดสติ ศิลปินนำเสนอผ่านเรื่องราวเทพนิยายปกรณัม ประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ศาสนา อารมณ์แบบโรแมนติคและกามารมณ์

โดยภาพรวมศิลปะ Neo Expressionism มีการแสดงออกอย่างรุนแรง ด้วยการใช้สีที่สดดิบ หรือสีมืดคล้ำและรอยฝีแปรงที่หยาบปาดป้ายอย่างอิสระ พื้นผิวที่หยาบ รูปทรงในภาพเขียนขึ้นอย่างง่ายๆ มุมมองหรือองค์ประกอบของภาพที่ดูแปลกประหลาดต่างจากมุมมองในชีวิตประจำวัน มีการลดทอน รูปทรง หรือบางครั้งมีการผสมผสานรูปทรงต่างชนิดต่างประเภทในภาพเดียวกัน กล่าวโดยสรุปไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินกลุ่มนี้

ศิลปินที่มีชื่อเสียงในเยอรมัน เช่น A.R. Penck, Sigmar Polke, George Baselitz, Anselm Kiefer, ในอิตาลี เช่น Sandro Chia, Mimmo Paladino, Enzo Cucchi, Francesco Clemente, ในอเมริกา เช่น Philip Guston, susan Rothenberg, Julian Shnabel, David Salle เป็นต้น

ศิลปะ Neo Expressionism นับว่าเป็นการกลับมาใหม่อย่างยิ่งใหญ่ของศิลปะที่เต็ม ไปด้วยอารมณ์ อีกทั้งเป็นการฟื้นคืนกลับมาของงานจิตรกรรมหลังจากความซบเซายาวนานเกือบ 10 ปี จนมีผู้กล่าวว่า งานจิตรกรรมตายไปแล้ว และเป็นการคืนกลับมามีบทบาทในวงการศิลปะโลกอีกครั้งหนึ่งของศิลปินเยอรมันและอิตาลี

เอกสารอ้างอิง
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. 2545. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพ : เมืองโบราณ.
Atkins, Robert. 1990. Art Speak. New York : Abbeville Press.
Honnef, Klaus. 1992. Contemporary Art. Koln : Benedite Tashen.

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :