หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ > ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานการศึกษา และริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป

เรียบเรียงโดย นภพงศ์ กู้แร่

สถานศึกษาศิลปะแห่งแรกที่สอนศิลปะให้แก่ผม คือวิทยาลัยช่างศิลป ที่นี่เป็นสถาบันที่ผมรัก และหวงแหนมากที่สุด ผมไม่เคยลืมคุณของครูผู้สอนทั้งศิลปะและสามัญ ตลอดจนผู้ก่อตั้งและวางรากฐานการศึกษาด้านศิลปะของสถาบันนี้ คือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หากไม่มีท่านเหล่านี้ ผมและอีกหลายคนคงไม่ได้มาอาศัยร่มเงาศิลปะภายใต้ชื่อสถาบัน “วิทยาลัยช่างศิลป” ด้วยผมเกิด เมื่อศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านเสียชีวิตไปแล้ว แน่นอนว่าเสียดายที่ไม่ทันได้ศึกษาศิลปะกับท่านด้วยความเคารพและศรัทธา จึงเรียบเรียงบทความโดยวิธีการค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ และการบอกเล่า ฝากให้เห็นคุณูปการของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีต่อวิทยาลัยช่างศิลป

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คือใคร?

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2435 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี นามเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี ตรงกับรัชสมัยในรัชการที่ 6 ในขณะนั้น รัฐบาลประเทศสยามมีนโยบายขอให้รัฐบาลประเทศอิตาลีคัดเลือกประติมากรผู้มีฝีมือมารับราชการปฏิบัติงานหล่อ และถ่ายทอดความรู้แก่ชาวสยามให้มีความรู้ทางด้านศิลปะทัดเทียมกับชาวตะวันตกตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ.2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เดินทางมารับราชการกรมศิลปากร กระทรวงวัง ในตำแหน่งช่างปั้น ที่ประเทศสยาม วันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2466เมื่ออายุท่านย่าง 32 ปี ผลงานที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงจนได้รับเลือกมารับราชการในประเทศสยาม คือ ประติมากรรมอนุสาวรีย์สงคราม ที่เมืองปอร์โตเฟอราอิโอ ด้านชีวิตครอบครัว ก่อนเดินทางมา ท่านเคยแต่งงานมาครั้งหนึ่งแต่แยกทางกัน ท่านเดินทางมากับภริยาใหม่ คือ นางฟันนี วิเวียนนี และใช้ชีวิตร่วมกันในประเทศสยามจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครอบครัวขอท่านจึงกลับประเทศอิตาลีพร้อมลูกชาย และลูกสาว แต่ท่านกลับอยู่ประเทศสยามด้วยความเสียสละเพื่องานศิลปะ และด้านศิลปะศึกษาที่ท่านรัก ท่านแยกทางกันแต่มีโอกาสได้พบกันเมื่อท่านลางานเพื่อเยี่ยมเยือนครอบครัวในบางปี
ปี พ.ศ.2486 ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี มีสัญชาติอิตาเลี่ยนซึ่งแพ้สงครามจึงถูกกักกันตัว ( บางครั้งกล่าวว่ากักบริเวณ ) ท่านจึงเปลี่ยนชื่อ และสัญชาติโดยมีชื่อ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” แทนนามเดิม
ท่านแต่งงานกับคุณมาลินี แคนนี่ แต่ไม่มีบุตร ธิดาด้วยกัน ท่านอุทิศตนจนถึงวาระสุดท้ายให้กับการบุกเบิกศิลปะ และศิลปะศึกษาในประเทศไทย แม้อายุท่านล่วงเลยเกิน 60 ปีแล้ว จวบจนท่านถึงแก่กรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 โดยสร้างสรรค์ผลงานศิลปกรรมโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ที่สำคัญต่างๆ ในประเทศไทย

ความขยัน และรับผิดชอบในหน้าที่

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านให้การอบรมแก่ศิษย์ทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติโดยมิได้เหน็ดเหนื่อย ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันขันแข็ง ท่านมาทำงานแต่เช้าก่อนเวลา ๘.๐๐ น. และกลับบ้านหลังเวลา ๑๘.๐๐ น.ทุกวัน ตั้งใจถ่ายทอดวิชาอย่างจริงจัง ทำให้ศิษย์ทุกคนมีความขยัน หมั่นเพียร ใครเกียจคร้านท่านจะไม่พูดด้วย ท่านชอบที่อยู่ใกล้ศิษย์เสมอ ปกติท่านมิเคยลาป่วยหรือลาหยุดแล้ว ในทางตรงกันข้ามมาทำงานตั้งแต่เช้า ยันค่ำ ท่านทำงานไม่หยุดว่าง ทั้งงานประติมากรรมอนุสาวรีย์ของส่วนราชการ และงานสอนที่ท่านทุ่มเท ท่านเคารพต่อราชการไม่เคยใช้เวลาราชการ และไม่เคยทำงานพิเศษเป็นส่วนตัวแสวงหารายได้เพื่อเลี้ยงชีพเพิ่มพูนรายได้นอกจากเงินเดือนราชการ
ความขยันหมั่นเพียรของท่าน ควรค่าแก่การเคารพในเกียรติยศของท่าน

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ปี พ.ศ.2469 ศาสตราจารย์ศิลป์ ได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น สังกัดกองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ ระหว่างนั้นท่านได้เริ่มสอนศิลปะแก่ผู้สนใจโดยเฉพาะทางด้านประติมากรรม ทั้งทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติ ศิษย์รุ่นแรกๆส่วนใหญ่มาจากโรงเรียนเพาะช่าง เมื่อทางราชการเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาทางด้านศิลปะจึงให้ท่านเป็นผู้วางหลักสูตร และตำราขึ้น โดยมีมาตรฐานเช่นเดียวกับยุโรป อาจารย์ดำรง วงศ์อุปราช กล่าวว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นบุคคลผู้มีความสำคัญที่สุดในการทำให้เกิดศิลปิน และศิลปะแบบใหม่ขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง ศิลปินมีการสร้างสรรค์ศิลปะที่มีฐานของความรู้และความเข้าใจ ท่านเห็นว่า การสร้างสรรค์งานศิลปะนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบและแบบแผน ท่านจึงพยายามให้ทางราชการเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ จนเปิดโรงเรียนประณีตศิลปกรรมขึ้น
ในปี พ.ศ.2477 กรมศิลปากรจึงจัดตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์เป็นผู้อำนวยการและเป็นผู้สอนวิชาศิลปะทั้งทางด้านทฤษฎี และปฏิบัติ โรงเรียนประณีตศิลปกรรมได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.2486 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นโรงเรียนสอนศิลปะสากลแห่งแรกของประเทศสยามและเอเชียอาคเนย์

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้วางรากฐานการศึกษา และริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป

ในระดับเตรียมมหาวิทยาลัยนั้น ท่านได้ริเริ่มวางรากฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2488 การเรียนศิลปะ ศาสตราจารย์ศิลป์ กล่าวว่า การศึกษาศิลปะ ต้องใช้เวลามาก อย่างน้อยต้อง 8 ปี แต่ในระดับปริญญาตรี ใช้เวลา 5 ปี ท่านจึงสนับสนุนให้ตั้งโรงเรียนศิลปศึกษา หรือโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร และสามารถเปิดเป็นโรงเรียนศิลปศึกษาขึ้น ในปี พ.ศ.2495 ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนช่างศิลป และปัจจุบันคือวิทยาลัยช่างศิลป ตามลำดับ ซึ่งจัดการเรียนการสอนทางด้านศิลปะระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง และผลิตบุคลากรศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาทางด้านศิลปะมาเป็นเวลานาน
ในการจัดทำหลักสูตรในช่วงเริ่มต้นเปิดโรงเรียนนั้น อาจารย์ประยูร อุลุชาฏะ เป็นผู้ที่ศาสตราจารย์ศิลป์ไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำหลักสูตร ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆในขั้นแรกเริ่มตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร ในขณะนั้นยังไม่มีสถานที่เรียน ต้องอาศัยสถานที่ในมหาวิทยาลัยศิลปากร จนเมื่อย้ายสถานที่เรียนมาอยู่ที่ตึกกระทรวงคมนาคม ซึ่งถูกรื้อ และสร้างเป็นโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีกับศิษย์ช่างศิลป

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านแวะเวียนมาที่โรงเรียนศิลปศึกษาหรือวิทยาลัยช่างศิลปในขณะนั้นเป็นประจำ บางครั้งมาพูดคุยกับบรรดาอาจารย์ซึ่งบางส่วนเป็นศิษย์ของท่าน และพบปะ อบรม บ่มนิสัย แก่นักเรียนในสมัยนั้น ดังเช่น
นิคม มูสิกะคามะ อดีตอธิบดี กรมศิลปากร กล่าวถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีว่าเป็นผู้สงบศึกการวิวาทของนักเรียนระหว่างโรงเรียนศิลปศึกษา กับโรงเรียนนาฏศิลป ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙ – ๒๕๐๐ ว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงมีการประชุมระหว่าง ๒ โรงเรียนเพื่อปรับความเข้าใจ ในวันนั้น มีฝรั่งคนหนึ่งเดินออกไปหน้าชั้น พูดภาษาไทยสำเนียงฝรั่ง รุ่นพี่บอกว่านี่แหละ “อาจารย์ฝรั่ง” ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวว่า “คนไม่ใช่สัตว์ สัตว์เดียรัจฉาน จึงไม่ต้องต่อยตีกัน ให้เรียน …เรียน…เรียนเท่านั้น หน้าที่ของเราคือเรียน”
พิทชา ชมเชิงแพทย์ นักเรียนโรงเรียนศิลปศึกษาเมื่อครั้งหลักสูตรการเรียนสามหน่วย คือ ๑. หน่วยจิตรกรรม ประติมากรรม ๒. หน่วยช่างสิบหมู่ และ๓. หน่วยโบราณคดี กล่าวว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มักแวะเวียนมาที่โรงเรียนเสมอๆ โดยเฉพาะเรื่องการอบรมนิสัยนักเรียนในสมัยนั้น ครั้งหนึ่งเรื่องความสะอาดห้องส้วม ที่สกปรกซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีมิไคร่จะชอบนัก ศาสตราจารย์ศิลป์ กล่าวในที่ประชุมด้วยน้ำเสียงภาษาไทยสำเนียงฝรั่งที่โมโหว่า “เราอยู่รวมกัน หลายๆคนอึ เราจะต้องมีความสะอาด เป็นต้นว่า ห้องส้วมนะ เราควรจะใช้แล้ว ควรทำให้สะอาด ไม่ใช่ทำแล้วหนีไป เป็นคนหนา เลวกว่าแมว หมา แมว มันยังดีกว่า ขี้แล้วยังรู้จักกลบ”
ดูเหมือนศาสตราจารย์ศิลป์ มักเป็นผู้ไกล่เกลี่ยอบรมนักเรียน กับเหตุการณ์หลายๆกรณี เมื่อครั้งราชการยุบกระทรวงวัฒนธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โรงเรียนศิลปศึกษาจึงเกิดการเปลียนแปลงทั้งด้านบุคลากรที่ย้ายมาจากกรมต่างๆ และระบบการเรียนการสอนหลักสูตรที่เน้นการเรียนวิชาสามัญมากขึ้นเหมือนสถานศึกษาอื่นๆที่เป็นอยู่ ทั้งระเบียบเครื่องแต่งกายนักเรียนจึงประท้วงไม่ยอมเข้าเรียนวิชาสามัญ
ประภาส อิ่มอารมณ์ กล่าวว่า ฯพณฯชวน หลีกภัย อดีตนากรัฐมนตรี ในขณะนั้นเป็นตัวแทนในการเจรจาขอให้ไม่เน้นวิชาสามัญมากเกินไป ศาสตราจารย์ศิลป์ จึงเป็นผู้คลี่คลายกรณี ดังได้กล่าวในการเจรจาว่า “พวกนายจะเขียนรูปเป็นอย่างเดียวโดยไม่ใส่ใจกับวิทยาการรอบข้าง นายจะเป็นแค่คนเขียนรูปเท่านั้น ไม่แตกต่างกับชาวสวน ชาวนาที่ทำเกษตรเป็น จะเอาอย่างนั้นหรือ ศิลปินที่ดีจะต้องเป็นผู้รอบรู้ เพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีคุณค่า เพราะพวกเขามีความรู้ทุกๆสาขานอกเหนือวิชาศิลปะเช่นกัน”
มานัส รักใจ กล่าวถึงศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งเป็นที่รัก นับถือว่านอกจากท่านจะสอนเกือบทุกวิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ เช่นองค์ประกอบศิลป์ และทฤษฎีสีแล้ว ในกรณีดังกล่าวนี้ อาจารย์ฝรั่ง ผู้ก่อตั้งเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนศิลปศึกษา จึงต้องเดินทางมาอบรมศิษย์ ว่าท่านรักและเอาใจใส่ศิษย์เพราะอยากให้เป็นคนดี แต่ไม่เป็นอย่างที่ท่านคิดไว้ กลับมาเกเร ท่านรู้สึกผิดหวัง
สมเกียรติ เสวิกุล กล่าวว่า เมื่อครั้งปี พ.ศ.๒๔๙๙ ในขณะที่ท่านเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ นั้นนักเรียนมักส่งเสียงดังกัน จนเป็นที่เดือดร้อน ศาสตราจารย์ศิลป์ ซึ่งปฏิบัติง่านในห้องพักของท่าน จึงต้องทำหน้าที่อบรม ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียงที่ผิดหวังในการกระทำของศิษย์ว่า “เกรงใจกันบ้างสิ ทำงานต้องการสมาธิเหมือนกัน…นาย.. นี่นาย ทำไมชอบทำเสียงสัตว์ป่า นายเป็นคนนะ ไม่ใช่สัตว์”ท่านกล่าวในเชิงให้สติ
นอกเหนือจากเหตุการณ์ซึ่งไม่ปกติแล้ว ปกติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีก็มักจะแวะมาเยี่ยมโรงเรียน และเข้าอบรมแก่นักเรียน โรงเรียนศิลปศึกษาอยู่เนืองๆ
อรรถทวี ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ นอกจากจะเป็นที่กล่าวขานของรุ่นพี่ว่า อาจารย์ฝรั่ง “สอนดี เข้าใจง่าย” วันหนึ่งในที่ประชุม อาจาร์ศิลป์พูดเกี่ยวกับระเบียบวินัยของโรงเรียน ว่า “ฉันตั้งโรงเรียนศิลปศึกษาขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนได้เรียนศิลปเบื้องต้น เมื่อจบแล้วให้ไปต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะเดียวกัน นักเรียนก็ต้องรู้จักปฏิบัติตามระเบียบวินัยของโรงเรียนด้วย เป็นนักเรียนต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง ถ้าไม่มีระเบียบและวินัยของโรงเรียน ก็ไม่ใช่โรงเรียนแน่นอน” อรรถทวี ศรีสวัสดิ์ กล่าวว่าครั้งนั้นเป็นความภาคภูมิใจที่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมาอบรม

๑๕ กันยายน ของทุกปีในขณะนั้น ศิษย์โรงเรียนศิลปศึกษา ถือเป็นวันที่รอคอยเพราะคือโอกาสการได้ร่วมงานวันเกิดของท่านศาสตราจารย์ศิลป์ ที่บ้านพักของท่าน ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน ศาสตราจารย์ศิลป์จะอยู่ร่วมงาน เล่านิทาน ร้องเพลง และหยอกล้อกับศิษย์ดังปฏิบัติต่อลูกหลาน
จวบจนปัจจุบัน วิทยาลัยช่างศิลป สำนึกในบุญคุณของท่านผู้ริเริ่มวางรากฐาน และก่อตั้งวิทยาลัยช่างศิลป ได้จัดกิจกรรมรำลึกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในวันเกิดของท่านคือ วันที่ ๑๕ กันยายน มาตลอดทุกปี เพียงแต่วันนี้ไร้ร่างเจ้าของวันเกิด เหลือคำสอน และสถานศึกษาศิลปะ ตลอดจนคุณความดีที่ไม่มีใครลืม “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น”

…………………………………………………………
บรรณานุกรม

นิทรรศการเชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี , มหาวิทยาลัยศิลปากร , อมรินทร์การพิมพ์ , ๒๕๓๕
อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์ , สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี , อมรินทร์การพิมพ์ , ๒๕๒๗
๕๐ ปี ศิลปศึกษา ช่างศิลป บทความข้อเขียนของศิษย์เก่าศิลปศึกษา – ช่างศิลป , สมาคมศิษย์เก่าศิลปศึกษา – ช่างศิลป , ๒๕๔๕


 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :