หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ > เล่าเรื่องของฟรีด้า
เล่าเรื่องของฟรีด้า (ภาคหลังดูหนัง)

โดย วิทมน นิวัติชัย

ช่วงปิดเทอมฤดูร้อนของข้าพเจ้าย้อนไปสมัยที่เรียนปริญญาโท เป็นช่วงที่เพื่อนฝูงมักชักชวนกันออกไปนั่งอ่านหนังสือกันตามสวนสาธารณะ หนังสือในห้องสมุดต่างๆ ก็มีให้หยิบยืมอ่านกันได้อย่างไม่รู้จักหมด อัตชีวประวัติของศิลปิน ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อโปรดของข้าพเจ้า เพราะนอกจากจะได้ทำความเข้าใจในความเป็นมาของศิลปินแต่ละท่านแล้ว ยังทำให้ทราบถึงพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม แนวทางการดำเนินชีวิต และการเผชิญกับอุปสรรคในฐานะของศิลปินได้อย่างน่าสนใจยิ่ง เมื่อเร็วๆนี้ได้มีโอกาสสัมผัสชีวิตของจิตรกรหญิงชาวเม็กซิกัน ที่เป็นที่รู้จักกันดีนาม ฟรีด้า คาร์โล่ (Frida Kahlo) ผ่านการถ่ายทอดสู่แผ่นฟิล์ม ก็ทำให้ข้าพเจ้าได้กลับมาคิดย้อนกลับไปถึงสิ่งที่เคยอ่าน และกลายเป็นหัวข้อสนทนาในกลุ่มเพื่อนสมาชิกอยู่เป็นอาทิตย์ ส่วนที่สำคัญหลายตอนไม่ได้ถูกกล่าวถึง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะได้เขียนเล่าเพิ่มเติม

คุณสมบัติ 3 ประการ ที่สามารถอธิบายความเป็นฟรีด้า และอาจอธิบายรวมถึงศิลปิน และบุคคลที่มีชื่อเสียงในโลกอีกหลายท่าน คือ ความเป็นตัวของตัวเอง ความดื้อรั้น และความเชื่อมั่นในตนเอง ฟรีด้าได้รับสืบทอดเชื้อสายของความเป็นศิลปินมาจากบิดาของเธอ Guillermo ซึ่งเป็นช่างภาพมืออาชีพ และจิตรกร ชีวิตของฟรีด้า พบการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ 2 ครั้ง เมื่ออายุได้ 6 ขวบฟรีด้าป่วยเป็นโรคโปลิโอ ทำให้ต้องพักรักษาตัวอยู่นาน หลังจากการบำบัดเธอก็ดีขึ้น แต่ก็ต้องประสบปัญหาในการเดิน และการโดนล้อจากเพื่อนฝูง เนื่องจากขาขวาของเธอลีบ และสั้นลงกว่าข้างซ้าย

ช่วงปี 1922 เป็นช่วงที่เกิดการปฏิวัติในเม็กซิโก ฟรีด้าเองอายุได้ 15 ปี เธอได้แสดงตัวว่าเป็นนักปฏิวัติ ทั้งทางด้านความคิด อารมณ์ และจิตวิญญาณ ด้วยการปฏิรูปตัวเอง สลัดคราบการแต่งกายแบบยุโรปที่ครอบครัวเคยปฏิบัติ มาตัดผมสั้นแบบผู้ชาย หันมาขี่จักรยาน หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนปีเกิดจาก 1907 เป็น 1910 เพื่อแสดงความจริงจัง และจริงใจกับการปฏิวัติ พร้อมที่จะแสดงตนว่าเป็นเม็กซิกันสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่เธอมีโอกาสได้พัฒนาความแข็งแกร่ง และความเชื่อถือในตนเองให้มีมากขึ้นไปด้วย ผลการเรียนของฟรีด้าอยู่ในเกณฑ์ดีมากในทางวิทยาศาสตร์ (คะแนนถึงที่จะเรียนต่อในคณะแพทย์) ฟรีด้ามีความสนใจในชีววิทยา (Biology) และสรีรศาสตร์ (Physiology) และก็ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าในผลงานจิตรกรรมของเธอมักจะมีอวัยวะ โดยเฉพาะหัวใจปรากฏอยู่เสมอ

จุดเปลี่ยนที่สองของเธอที่เราได้เห็นในภาพยนตร์ด้วยคือ เมื่อกันยายน 1925 ฟรีด้าประสบอุบัติเหตุจากรถบัสที่เธอโดยสารหลังเลิกเรียนพุ่งชนกับรถขายของ ซึ่งผลจากการหักเป็นชิ้นเล็กๆของกระดูก และการถูกส่วนแหลมของราวเหล็กทิ่มผ่านทะลุเกือบทั้งร่าง ทำให้อาการของฟรีด้าค่อนข้างหนักมาก ต้องได้รับการพักรักษาตัวบนเตียงโดยไม่เคลื่อนไหวมากเป็นระยะเวลานาน แม้การเจ็บป่วยคราวนี้จะกระทบทั้งกาย และใจ แต่เธอก็ไม่ทิ้งการอ่าน ฟรีด้าอ่านหนังสือแทบทุกเล่มที่เกี่ยวกับศิลปะ หลังจากนั้นอีกหนึ่งปีเธอก็สามารถวาดภาพคนเหมือนภาพแรกให้กับแฟนของเธอสมัยมัธยม จะเห็นได้ว่าศิลปินบางคนได้รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ หรือสังคม แต่สำหรับฟรีด้าเธอกลับมองเข้าไปในจิตใจของตนเอง เราสามารถเห็นได้จากงานจิตรกรรมกว่า 200 ชิ้นของเธอที่เกี่ยวข้องกับมุมมองของชีวิตเธอเอง

ในปี 1929 ฟรีด้าแต่งงานกับศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวเม็กซิกัน ดิเอโก้ ริเวอร่า (Diego Rivera) และหย่าในปี 1939 จากนั้นแต่งงานใหม่กับเขาอีกในปี 1940 (ข้าพเจ้าคงไม่อาจลงลึกในความสัมพันธ์ของสองคนมากนักเพราะเกรงว่าเนื้อที่คงจะไม่เพียงพอ ) ด้วยความไม่ซื่อสัตย์ของดิเอโก้ ประกอบกับพฤติกรรมมากรักของเขา สร้างความเจ็บปวดอย่างสูงสุดแก่ฟรีด้า และความเจ็บปวดเหล่านั้นก็ถูกถ่ายทอดผ่านออกมาในงานจิตรกรรมของเธอ โดยฟรีด้าเขียนบันทึกไว้ว่า “ฉันทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุชีวิตสองครั้ง ครั้งแรกคือการที่รถบัสพุ่งมาชนฉัน และครั้งที่สองคือ ดิเอโก้”

อาการป่วยเรื้อรังของฟรีด้าจากอุบัติเหตุ ทำให้เธอต้องได้รับการผ่าตัดอยู่หลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่ทำให้ดีขึ้น เธอมักจะวาดภาพอยู่บนเตียงโดยใช้ขาหยั่งที่มารดาของเธอเป็นผู้ออกแบบให้เป็นพิเศษ และในที่สุดอาการของเธอก็หนักขึ้น แต่เธอยังคงสู้ และพยายามทำใจให้สดชื่น ในขณะนั้นเองเธอก็เริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในระดับโลก เราจะเห็นได้จากฉากท้ายๆ ที่ภาพยนตร์นำเสนอ คือ ตอนที่แกลเลอรี่หนึ่งในเม็กซิโกต้องการจัดการแสดงของเธอ เราจะเห็นถึงความมีวิญญาณของศิลปิน ที่แม้จะป่วยหนักแค่ไหนก็ต้องให้คนช่วยกันแบกเตียงของเธอมายังที่แสดง เพื่อที่จะพบปะกับผู้ชม

ฟรีด้าเสียชีวิตในปี 1954 ในห้องสีฟ้าสดห้องเดิมที่เธออยู่มาตั้งแต่เกิด ฟรีด้าทิ้งมรดกที่เป็นงานศิลปะไว้ให้เราศึกษา และชื่นชม แต่นั่นดูเหมือนจะไม่เท่ากับแรงบันดาลใจที่เราได้รับจากการรู้จักชีวิตของเธอ การถ่ายทอดความเจ็บปวดสู่ผลงานศิลปะอย่างอัจฉริยะ ข้าพเจ้าเห็นว่านี่คือสิ่งที่เธอมีชัยชนะเหนือความเคราะห์ร้ายทั้งปวง

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :