หน้าหลัก ข้อมูลวิทยาลัย
ข่าวสาร
ผลงานศิลปะ
บทความและงานวิจัย
ติดต่อเรา
บทความ > ลายคำล้านนา
ลายคำล้านนา

โดย สนั่น รัตนะ

สืบเนื่องจากการนำคณะทำงานวิจัยออกเก็บข้อมูลโครงการศึกษาค้นคว้าวิจัย ลายรดน้ำของกรมศิลปากร ซึ่งมอบหมายให้วิทยาลัยช่างศิลปเป็นผู้ดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2546 นี้ ได้ออกสำรวจเก็บข้อมูลในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในพื้นที่ภาคเหนือได้พบเห็นมรดกศิลปวัฒนธรรมทางด้านศิลปกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ โดดเด่น และมีการสืบทอดกันมายาวนาน จึงทำให้เกิดข้อเขียนเรื่องนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับในมุมมองของผู้เขียนแก่ผู้สนใจโดยเฉพาะต่อการศึกษาค้นคว้าศิลปวัฒนธรรมแบบประเพณี เรื่องลายคำล้านนา

คำว่า ลายคำ ในความหมายของศิลปกรรมล้านนา คือ ลวดลายที่ประดับตกแต่งสิ่งของเครื่องใช้ อาคารสถานที่ด้วยทองคำเปลว มีลวดลายสีทองบนพื้นสีแดงหรือดำ หากดูแต่ผิวเผินแล้วจะเห็นเป็นเพียงลวดลาย 2 มิติ ที่ใช้วิธีการประดับลวดลายโดยการฉลุแบบแล้วปิดทองคำเปลว ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป แต่แท้จริงแล้วการประดับตกแต่งลายคำของล้านนานั้น มีวิธีการแบบอื่นที่ต่อเนื่องจากการฉลุแบบ หรือใช้วิธีการที่แตกต่างไป ซึ่งสามารถที่จะจำแนกวิธีการประดับตกแต่ง ลวดลายคำได้ดังนี้

วิธีการที่ 1 การฉลุแบบปิดทองคำเปลว เป็นวิธีการที่พบมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีการประดับตกแต่งที่มีกระบวนการไม่ยุ่งยากซับซ้อนมากนัก โดยวิธีการเจาะฉลุลวดลายแม่แบบกระดาษตามต้องการ แล้วนำไปวางทาบตรงส่วนที่ต้องการจะประดับตกแต่งลวดลาย แล้วปิดทองคำเปลวลงไปตามช่องที่ฉลุลวดลายนั้นตามต้องการ

วิธีการที่ 2 การฉลุแบบปิดทองคำเปลวแล้วตัดเส้น เป็นกระบวนการที่ทำต่อเนื่องจากวิธีแรกแต่ตัดเส้นรอบและเพิ่มรายละเอียดของลวดลาย ทำให้ผลงานมีความละเอียด ประณีต คมชัดมากยิ่งขึ้น

วิธีการที่ 3 การฉลุแบบปิดทองคำเปลวแล้วจารเส้น เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องจากวิธีการแรกเช่นเดียวกัน แต่ใช้วิธีการเติมรายละเอียดของลวดลายที่มีความละเอียดมากกว่าการเขียนตัดเส้น โดยใช้เหล็กแหลมจารลวดลาย (ขูด ขีด) รายละเอียดต่าง ๆ สามารถที่จะทำ ได้มาก จะสังเกตเห็นร่องรอยของการจารเส้นที่ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง ทำให้เกิดเป็นเส้นแตก ๆ ไม่ ตรงเส้นรอยเดิม และมีร่องรอยของเส้นจารนั้นเป็นร่องลึกลงไปในส่วนที่เป็นพื้นของผลงานนั้น

วิธีการที่ 4 การเขียนลายรดน้ำลงรักปิดทอง เป็นวิธีการประดับตกแต่งที่แตกต่างไปจาก 3 วิธีการที่กล่าวมา โดยจะต้องอาศัยช่างที่ความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน และต้องใช้เวลาในการทำงาน เพราะต้องอาศัยความจัดเจนของการเขียนเส้นพู่กัน การเตรียมพื้น การเตรียมน้ำยาหรดาล การเตรียมรักเช็ด และการเช็ดรักปิดทอง รดน้ำ ที่มีระเบียบแบบแผนเป็นขั้นตอนที่จะต้องทำตามลำดับก่อนหลัง และยุ่งยากสลับซับซ้อนมากกว่า

การประดับตกแต่งลายคำล้านนานั้น จะปรากฏให้เห็นบนบานประตู หน้าต่าง ฝาผนังของโบสถ์ วิหาร หรือตู้พระไตรปิฎก หีบพระธรรม ธรรมาสน์ ประกับคัมภีร์ใบลาน สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไม้สัก หรือปกสมุดข่อย ที่เป็นเนื้อกระดาษข่อยหรือกระดาษสา นอกจากนี้ยังพบบนภาชนะสิ่งของ เครื่องใช้ที่เป็นเครื่องเขิน มีโครงสร้างจากการสานไม้ไผ่เป็นรูปทรงภาชนะ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น เชี่ยนหมาก ขันแก้ว (พานดอกไม้ธูปเทียน) และที่พบเป็นเครื่องใช้ขนาดใหญ่คือ หลังคากูบช้าง เป็นต้น

ลวดลายที่นำมาประดับตกแต่ง มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลวดลายที่ได้รับอิทธิพลจากช่างหลวงส่วนกลาง ลายในกลุ่มนี้ ได้แก่ ลวดลายที่เป็นลายกนกต่าง ๆ ส่วนลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เด่นชัดบ่งบอกถึงศิลปกรรมล้านนาโดยแท้ คือ เป็นลักษณ์ลวดลายกึ่งธรรมชาติ กึ่งประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวิธีการของจิตรกรรมไทยแบบประเพณีผสมผสานกับแบบไทยใหญ่หรือพม่า เช่น ลวดลายดอกพุดตาน ดอกกุหลาบ ผสมคละเคล้าตัวภาพสัตว์ แมลง เช่น นก กระรอก ผีเสื้อ และสัตว์น้อยใหญ่ตามพื้นดิน นอกจากนี้ยังมีลวดลายของภาพที่ได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น ภาพมังกร และหงส์ เป็นต้น ส่วนภาพทวารบาลมีลักษณะ เป็นภาพทรงเครื่องแบบกษัตริย์พม่าหรือไทยใหญ่ถือ อาวุธ ส่วนลวดลายประดับที่เป็นลายกนกมีลักษณะลวดลายใกล้เคียงกับช่างหลวงทางภาคกลาง

ไม่ว่าจะประดับตกแต่งลายคำด้วยวิธีการใดบนพื้นสีอะไรนั้น หมายถึง มรดก ศิลปวัฒนธรรมทางด้านศิลปะอันล้ำค่าของชาวล้านนา และมรดกไทยที่ทุกคนควรจะภาคภูมิใจ หวงแหนเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ หรือให้ชาวโลกได้ชื่นชม แต่สิ่งที่ได้พบ และชวน หดหู่ใจ คือการเก็บรักษาในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วผู้ดูแลจะเก็บรักษาแบบของเก่าไร้ค่าที่ชำรุด ผุพังและเป็นสิ่งของเก่าที่เกะกะไร้ประโยชน์ ก็เก็บไว้ในส่วนหนึ่งของมุมที่อับที่สุดในพื้นที่ หรือ บางแห่ง(ส่วนน้อย) เห็นคุณค่ามากจนต้องนำไปขังไว้ในลูกกรงเหล็ก 2 - 3 ชั้น เหมือนนักโทษที่ทำความผิดร้ายแรงเพียงเพื่อไม่ให้ขโมยกระทำการได้สะดวก ได้พบเห็นทั้ง 2 แบบแล้ว คิดไม่ออกว่าจะภาคภูมิใจหรือหดหู่ใจน่าสมเพชเวทนากันแน่

ลายคำแบบลายรดน้ำ กูบช้าง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ. ลำพูน

ลายคำแบบฉลุปิดทองคำเปลว
 

ลายคำแบบลายรดน้ำ
 

 


วิทยาลัยช่างศิลป หมายเลขโทรศัพท์ 0 2326 4002 - 4 โทรสาร 0 2326 4013
E-Mail :