ประวัติโดยสังเขป

อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข
เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2468 ธนบุรี

การศึกษา
- โรงเรียนวัดรางบัว
- โรงเรียนวัดนวลนรดิศ
- โรงเรียนเพาะช่าง
- คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- Academy of Fine Arts, Rome, Italy

ปัจจุบัน
- ศิลปินอิสระ
- ราชบัณฑิต

รางวัลและเกียรติคุณ
- รางวัลที่ 3 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1
- รางวัลที่ 2 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2
- รางวัลที่ 2 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3
- รางวัลที่ 2 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 4
- รางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5
- รางวัลที่ 2 ประเภทวาดเส้น การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 5
- รางวัลที่ 1 ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6
- ศิลปินชั้นเยี่ยมประเภทจิตรกรรม จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2498
- เหรียญทอง การประกวดภาพเขียน ณ เมืองเรเวนนา อิตาลี พ.ศ. 2502
- รางวัลที่ 1 การประกวดภาพเขียน ณ มหาวิทยาลัยแห่งโรม อิตาลี พ.ศ. 2503
- รางวัลที่ 1 ประเภทสีน้ำ การประกวดภาพเขียนขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2504
- รางวัลที่ 2 การแสดงศิลปะนานาชาติ กรุงไซงอน เวียดนามใต้ พ.ศ. 2505
- รางวัลงานมหกรรมศิลปะ ณ เมืองคานส์ ฝรั่งเศส พ.ศ. 2512
- ศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2534
- ราชบัณฑิต ประเภทวิจิตรศิลป์ สาขาจิตรกรรม ประจำปี 2535

การแสดงผลงานเดี่ยว
- ณ สภาวัฒนธรรมอิตาลีแห่งภาคตะวันออกกลางและตะวันออกไกล (IS.MEO)กรุงโรมและมิลาน อิตาลี 2503
- ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ 2528
- ณ โรงแรมดุสิตธานี 2530
- นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปี 2536 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ 2536
- ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์
 


บทความ


สวัสดิ์ ตันติสุข : กว่าหกสิบห้าปีบนเส้นทางแห่งการสร้างสรรค์

โดย ปาน...น้ำ


“ ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสม ฝึกฝนหลากเทคนิค อย่าตั้งใจเกินไป ให้ปล่อยใจเล่นสนุกอย่างเสรี และไม่ควรท้อถอย หากทำได้ เมื่อ“ใจ”มี ไม่ช้า“ฝีมือ”จะมาเอง ”

คำกล่าวนี้อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม)พ.ศ.2534 มักจะใช้สรุปในการถ่ายทอดให้ผู้ที่รักชอบและมีใจรักที่อยากจะปฎิบัติงานศิลปะ เขาเข้าศึกษาคณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อพ.ศ.2486 หลังจากจบการศึกษาวุฒิ ป.ป.ช.จากโรงเรียนเพาะช่างด้วยคะแนนสูงระดับต้นๆ ตามเกณฑ์ เข้ามาเป็นนักศึกษารุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกในสมัยที่มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้บุกเบิกในยุคแรก

ศิลปินแห่งชาติท่านนี้ถือกำเนิดและเติบโตในบ้านเรือนไทยหลังคาแฝดริมคลองภาษีเจริญ เขาเป็นลูกคนกลางในบรรดาพี่น้องชายล้วน 3 คน บิดามารดามีอาชีพทำสวน ปลูกทั้งพืชล้มลุกและไม้ยืนต้น บนเนื้อที่ 7 ไร่เศษ มีรายได้จากการนำพืชผลในสวนใส่เรือล่องขายตามละแวกคลองภาษีเจริญเรื่อยไปจนถึงถึงหนองแขม นอกจากนี้ยังมีรายได้จากชาวนาส่วนใหญ่ที่เชื่อของไว้โดยชำระด้วยวิธีตกข้าวเปลือกเมื่อสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวในแต่ละปี และยังซื้อเพิ่มเพื่อนำมาขายได้กำไรเป็นค่าใช้จ่าย ตลอดจนเป็นทุน ส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่ลูกๆ ในวัยเด็ก สวัสดิ์เข้ารับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนวัดรางบัว โรงเรียนวัดนวลนรดิศ และขอตามพี่ชายไปเรียนในโรงเรียนเพาะช่าง กระทั่งมีโอกาสเรียนจนจบอนุปริญญาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ตามลำดับ

“ความคิดเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ให้ใช้สมอง(ความคิด)และมือ(ฝีมือ)ไปด้วยกัน”

“ทำงานจิตรกรรมอย่าทาสี จงระบายสี”

“ ควรทำใจให้ว่างไม่มีอคติใดๆ แล้วให้รูป(งานศิลปะ)พูดกับเรา” ฯลฯ

ประโยคต่างๆ เหล่านี้ ของท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรีถูกถ่ายทอดออกมาจากความทรงจำอันแจ่มชัดของสวัสดิ์ผู้เป็นศิษย์ที่ถืออาจารย์ท่านนี้เป็นเสมือนบิดาผู้ให้กำเนิดทางศิลปะ เมื่อประมวลความรู้ทั้งหมดที่ได้รับ ประกอบกับความขยัน อดทน ไม่ยอมแพ้ ทำให้ สวัสดิ์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการศิลปะได้ไม่ยาก และไม่นาน แนวทางสร้างสรรค์งานของเขามีรากฐาน และ ก่อร่างสร้างเป็นแก่นอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวขึ้นจากความคิดที่ “ต้องให้แตกต่างจากคนอื่น”บางครั้ง สวัสดิ์ ถึงกับกล้าใช้คำว่า “คิดพิเรนทร์ ไม่เหมือนใคร” มาจนถึง “เล่น- เรียน เรียน-เล่น” ต่อยอดทางความคิด แล้วถ่ายทอดต่อให้ศิษย์ในวันนี้

พ.ศ.2499-2503 สวัสดิ์มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันวิจิตรศิลป กรุงโรม ประเทศอิตาลี ประสบการณ์ครั้งนั้นช่วยเพิ่มพูนทักษะ รวมถึงโอกาสแสดงความสามารถอันโดดเด่น ให้เป็นที่ประจักษ์ ที่นี่เขาเริ่มเข้าใจในคุณค่างานนามธรรม และเริ่มปฎิบัติงานในแนวทางนามธรรม ด้วยเทคนิคสีน้ำมันเวลาต่อมา ระหว่างศึกษา และก่อนกลับประเทศไทยในปีพ.ศ.2503 เขาได้รางวัลชนะเลิศจากการประกวดงานศิลปะระดับเยาวชนหลายรางวัล ครั้งสำคัญได้แก่การประกวดที่เมืองราเวนนา และการประกวดระดับชาติทั่วทั้งประเทศอิตาลี ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ สภาวัฒนธรรมอิตาลี แห่งภาคตะวันออกกลาง และตะวันออกไกล ( Is.MEO )ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อุปถัมภ์ทุนให้ ได้จัดนิทรรศการพิเศษสำหรับเขาขึ้น ทั้งที่ในกรุงโรมและสาขาเมืองมิลาน

นอกจากนี้เขาเป็นศิลปินที่มีทักษะ ชำนาญในการใช้สีน้ำหาตัวจับยากคนหนึ่ง ความช่างสังเกต ความบังเอิญ และโชค มักจะปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันในบางจังหวะชีวิต บ่อยครั้งที่ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เกิดผลงานที่ทำให้เขาหลงรักและหวงแหนหลายภาพ หลายรางวัลใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศ ส่งผลให้เกียรติประวัติของศิลปินท่านนี้อยู่ในแถวหน้าของผู้มากด้วยคุณานุประการต่อวงการศิลปะบ้านเรา เขาเป็นทั้งศิลปินชั้นเยี่ยม ราชบัณฑิต ได้รับเกียรติเป็นดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาจิตรกรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นอาจารย์ วิทยากร กรรมการ ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม และภาคภูมิใจเป็นที่สุดเมื่อได้เข้ารับพระราชทาน เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาวิจิตรศิลป์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปีพ.ศ.2546

กว่าหกสิบห้าปีที่อุทิศชีวิตให้คำว่า “ศิลปะ” ผลงานและเกียรติประวัติของเขาจะได้รับการ ถ่ายทอดสู่สาธารณชน เนื่องในโอกาสที่ปีพ.ศ.2552 อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุขจะครบวาระ 7 รอบ กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลปเจ้าฟ้า จึงมีมติเห็นชอบจัด “นิทรรศการพิเศษเพื่อ เชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ” ประกอบด้วยภาพวาดจำนวนไม่ต่ำกว่า 150 ภาพนับแต่พ.ศ.2485 จวบปัจจุบัน พิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 9 เมษายน 2551 เวลา 18.00 น. บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่ 10 เมษายน - 29 พฤษภาคมนี้ เวลา 8.30 – 16.30 น. เว้นวันจันทร์ อังคาร และวัน หยุดนักขัตฤกษ์



นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง "สวัสดิ์ ตันติสุข" ศิลปินแห่งชาติ

โดย ปาน

เมื่อพูดถึงศิลปินในยุคบุกเบิกแรกเริ่มของวงการศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา ผู้อยู่ในวงการศิลปะน้อยใหญ่วัย 80 จนถึงรุ่นหลาน หากเอ่ยนาม สวัสดิ์ ตันติสุข คงมีน้อยคนนักที่จะไม่เคยผ่านตาผลงานของเขา

ด้วยบุคลิก ที่นุ่มนวล โอบอ้อม และอ่อนโยน ทำให้ศิลปินใหญ่ท่านนี้เป็นที่รักและได้รับการยกย่อง ยอมรับนับถือได้ไม่ยากจากทุกสถานะ

เขาใช้ชีวิตอยู่กับศิลปะมาแล้วกว่า 65 ปี เริ่มจากโรงเรียนเพาะช่างเมื่อปีพ.ศ.2483 มหาวิทยาลัยศิลปากร จนกระทั่งได้รับทุนจากสภาวัฒนธรรมอิตาลีแห่งภาคตะวันออกกลางและตะวันออกไกล ( IsMeo )โดย Prof. Tucci และการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีที่เปรียบเสมือนบิดาทางศิลปะ และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตรซึ่งเป็นองค์อุปถัมถ์ ทั้งสองท่านนับเป็นผู้มีอุปการคุณ ให้ความเมตตาและอุปถัมภ์จนประสบความสำเร็จในเบื้องต้น อันเป็นความสำเร็จที่หยั่งราก ฝังลึกจากต้นกล้าจนเติบใหญ่เป็นไม้ที่แผ่กว้างให้ร่มเงาแก่ศิษย์น้อยใหญ่

เมื่อได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังสถาบันวิจิตรศิลป์ กรุงโรมโดยเข้าเป็นศิษย์ของPro.Franco Gentilini ศิลปินผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับคนหนึ่งในศตวรรษที่20 ชาวอิตาเลียน (1909-1981) เวลา 4 ปีที่อิตาลี เขาได้เริ่มสะสมประสบการณ์สู้ชีวิต และพัฒนาการทำงานจนสามารถพิสูจน์ให้ได้ประจักษ์จากรางวัลชนะเลิศระดับเยาวชนหลายรางวัล อันเป็นผลทำให้มีการจัดแสดงผลงานเดี่ยวเป็นเกียรติให้ก่อนเดินทางกลับ ระหว่างนั้นเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสยุโรป รวมทั้งประเทศอิตาลี

แต่เนื่องจากเขาต้องเป็นตัวแทนศิลปินไทยเข้าประชุมที่กรุงเวียนนา ร่วมกับศ.ศิลป พีระศรี และ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ จึงไม่มีโอกาสเข้าเฝ้ารับเสด็จฯด้วยตนเอง แต่ฯพณฯไพโรจน์ ชัยนาม ซึ่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรมในเวลานั้นได้นำภาพเขียนชื่อ “Duomo Milano”ซึ่งเขียนขึ้นก่อนจะออกเดินทางไปทำหน้าที่ดังกล่าว ถวายแทนตัว

เมื่อกลับมาก็ได้มีโอกาสรับใช้อยู่ในราชการ กรมศิลปากร ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะต่างๆ ทั้งเป็นข้าราชการ ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ศิลปิน กรรมการคัดเลือกตัดสินผลงานทางศิลปะหลายระดับ ทั้งในและนอกประเทศ วิทยากร แม้กระทั่งการให้ความร่วมมือแก่ส่วนราชการและเอกชนทั้งหลายในโครงการต่างๆ ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ จนเกษียณอายุราชการ ในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากรเป็นตำแหน่งสุดท้าย เมื่อปีพ.ศ.2528

จากเด็กชายชาวสวนนิสัยใจร้อน ละแวกบางแค นั่งพายเรือในคลองภาษีเจริญไปเรียนที่โรงเรียนวัดรางบัว และวัดนวลนรดิศกับพี่ชาย จนมีโอกาสได้ตามพี่ชายเข้าไปศึกษาในโรงเรียนเพาะช่างด้วยวิธีรบเร้าให้พี่ชายพาไปสมัครเข้าชั้นเรียนทั้งที่โรงเรียนเปิดเรียนไปแล้วถึง 1 เดือน เพราะไม่ชอบที่จะต้องทนทำสวนอยู่กับบ้าน

เขาได้พัฒนาฝีมือจาก คะแนน 4 เต็ม 10จนได้รางวัล ที่ 3 และที่ 2 ตามลำดับ จากการประกวดเขียนภาพที่จัดขึ้นเป็นพิเศษที่โรงเรียนเพาะช่าง อีกทั้งประสบการณ์การถ่ายทอดที่ส่งผลทางจิตวิทยาเชิงบวกแก่ศิษย์จากคุณครูแนบ บังคม ด้วย ความมุ่งมั่น อุตสาหะ ช่างสังเกต และไม่ยอมแพ้ ประกอบกับจังหวะชีวิตช่วยส่งให้สวัสดิ์ ตันติสุขได้มายืนอยู่ในจุดสูงสุด ณ วันนี้

ด้วยวัย 83 เขายังรักที่จะสร้างงานศิลปะด้วยพลังใจที่ไม่เคยดับมอด แม้ร่างกายและสุขภาพจะไม่ค่อยเอื้อและเกื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานตามที่ใจประสงค์ก็ตาม

จากผลงาน และเกียรติประวัติที่ได้รับมา ในโอกาสที่ศิลปินอาวุโสท่านนี้ สวัสดิ์ ตันติสุข กำลังจะครบวาระ 7 รอบ ในปี 2552 กรมศิลปากร โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าฟ้า ได้มีมติเห็นชอบที่จะจัด นิทรรศการพิเศษเพื่อเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง "สวัสดิ์ ตันติสุข" ศิลปินแห่งชาติ ขึ้น

ในนิทรรศการจะประกอบไปด้วยผลงานไม่ต่ำกว่า 150 ภาพ ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2485 จนถึงปัจจุบัน

โดยจะทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันพุธที่ 9เมษายน 2551 เวลา 18.00 น. และจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ ตั้งแต่ 10 เมษายน - 29 พฤษภาคม 2551 ตั้งแต่ เวลา 8.30 ถึง 16.30 น.
เว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

จึงขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมชมนิทรรศการได้ตามวันและเวลาดังกล่าว.
 


ภาพผลงาน

"ควรแบ่งเวลาให้เหมาะสม ฝึกฝนหลากเทคนิค
อย่าตั้งใจเกินไป ให้ปล่อยใจเล่นสนุกอย่างเสรี และไม่ควรท้อถอย
หากทำได้ เมื่อใจมี ไม่ช้าฝีมือจะมาเอง"

สวัสดิ์ ตันติสุข



In the Street, Italy. 1957, 21x28 cm. ink on paper


Front, Nude. 1958, 21x27 cm. ink on paper


Saint Paul Chapel Munich. 1960, 26x37 cm. watercolor on paper


Montezakel. 1960, 50x38 cm. watercolor on paper


Thammasart. 1992, 37x25 cm. ink and watercolor on paper


Klonglarn Waterfall. 1995, 90x120 cm. oil on canvas


Watercolor Painting 1997. 1997, 61x46 cm. watercolor on paper


Hotel Room, Vietnam. 1998, 38x28 cm. watercolor on paper


Malaysia by Night. 1999, 25x25 cm. ink and watercolor on paper


Watercolor Painting 2000. 2000, 50x35 cm. watercolor on paper



Solar Colipse. 2000, 100x100 cm. oil on canvas



On the Boat, Srichang. 2001, 37x25 cm. ink and watercolor on paper


The wine. 2006, 43x50 cm. watercolor on paper



Landscape Ruins. 38x50 cm. oil on board



Golden Shower. 2007, 70x90 cm. oil on canvas




หมายเหตุ : ภาพผลงาน,บทความจากงานประชาสัมพันธ์นิทรรศการพิเศษเพื่อ เชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ประจำปีพุทธศักราช 2551 : ศิลปกรรมย้อนหลัง สวัสดิ์ ตันติสุข ศิลปินแห่งชาติ, ข้อมูลเรียบเรียงมาจาก สูจิบัตรการแสดงศิลปกรรมคณาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป ครั้งที่ 1

กลับหน้าหลัก